Loading color scheme

ความร่วมมือระหว่างไทยและบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการกับองค์การยูเนสโก

moe unesco 6 6 2566

ความร่วมมือระหว่างไทยและบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการกับองค์การยูเนสโก

          องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific, and Cultural Organization: UNESCO) หรือยูเนสโก เป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ก่อตั้งโดยได้มีการลงนามในธรรมนูญขององค์การเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2488 และต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศสมาชิก 20 ประเทศ ได้ร่วมมือกันให้สัตยาบันธรรมนูญองค์การ ซึ่งเริ่มด้วยข้อความที่ว่า สงครามเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องสร้างความหวงแหนสันติภาพให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ด้วย นอกจากนี้ ธรรมนูญยูเนสโกยังบ่งชี้ไว้ด้วยว่า สันติภาพที่เกิดจากการตกลงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลเพียงอย่างเดียวย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่และยั่งยืนจากประเทศชาติต่าง ๆ ในโลก สันติภาพจะต้องวางรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญาและจิตสำนึกของมนุษยชาติ ดังนั้น องค์การยูเนสโกจึงเป็นองค์การชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสันติภาพ ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือของนานาชาติด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อให้ทั่วโลกเคารพ ในความยุติธรรม กฎหมาย สิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์พึงมี โดยไม่ถือเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ตามกฎบัตรสหประชาชาติ องค์การมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ และสมาชิกสมทบอีก 12 ประเทศ และมีสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ อีก 199 แห่งทั่วโลก ภาษาที่ใช้เป็นทางการขององค์การ คือ อังกฤษและฝรั่งเศส แต่ภาษาที่ใช้ในการประชุมระหว่างประเทศมี 6 ภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย อาหรับ และจีน

          ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2492 นับเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 49 ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2504 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้องค์การจัดตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขึ้นที่ประเทศไทย และได้สร้างอาคารดาราคาร (อาคารหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล) เพื่อใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานร่วมกับสำนักเลขาธิการซีมีโอด้วย ต่อมาในปี 2525 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส โดยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้จัดส่งนักวิชาการศึกษาไปประจำที่สำนักงานเพื่อทำหน้าที่รองผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก

          ในฐานะประเทศสมาชิกได้ชำระเงินอุดหนุนองค์การเป็นประจำโดยมีสัดส่วน ร้อยละ 0.239 โดยการตั้งงบประมาณไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ ยังมีเงินอุดหนุนสำนักงานส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ เงินอุดหนุนศูนย์กลางระหว่างชาติว่าด้วยการรักษาและบูรณะสมบัติวัฒนธรรม (ICCROM) ที่ประเทศอิตาลี เงินอุดหนุนกองทุนมรดกโลกจำนวนร้อยละ 1 ของค่าบำรุงสมาชิกองค์การ แต่เนื่องจากองค์การยูเนสโกเป็นองค์การด้านพุทธิปัญญา ไม่ใช่องค์การที่ให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้หรือเงินให้เปล่า ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้รับจากยูเนสโกจะเป็นไปในรูปแนวความคิดด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ที่ก้าวหน้าจากการวิจัยหรือผลการประชุมปรึกษาหารือการระดมความคิดที่ยูเนสโกจัดขึ้นเพื่อจุดประกายความคิด ดังนั้นประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากองค์กรยูเนสโกจึงไม่สามารถคำนวณเป็นเม็ดเงินได้

กลไกที่สำคัญในการดำเนินงานขององค์การ

1. การประชุมสมัยสามัญ (General Conference)
การประชุมสมัยสามัญเป็นกลไกบริหารสูงสุดขององค์กร มีการประชุมทุก 2 ปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร แต่งตั้งผู้อำนวยการใหญ่ (Director-General) กำหนดมติในเรื่องแผนงานและงบประมาณระยะกลาง 8 ปี (เอกสาร C/4) และแผนงานและงบประมาณระยะ 4 ปี (เอกสาร C/5) ตลอดจนพิจารณารับประเทศสมาชิก และออกเสียงในเรื่องอัตราค่าบำรุงสมาชิก รวมทั้งการกำหนดหรือรับรองเรื่องบริหารที่สำคัญขององค์การ โดยปกติหัวหน้าคณะผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมจะเป็นระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่า

2. คณะกรรมการบริหาร (Executive Board)
คณะกรรมการบริหารจะประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและมีชื่อเสียงทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม จำนวน 58 คน เลือกจากผู้แทนของประเทศสมาชิก และมีการเลือกตั้งกรรมการจำนวนครึ่งหนึ่ง ในการประชุมสมัยสามัญทุก 2 ปี โดยกรรมการบริหารจะอยู่ในวาระคราวละ 4 ปี และจะต้องปฏิบัติงานตั้งแต่ การประชุมสมัยสามัญที่ตนได้รับเลือกสิ้นสุดลง จนถึงการประชุมสมัยสามัญต่อไปอีก 2 ครั้ง โดยปกติการประชุมคณะกรรมการบริหารจะมีขึ้นปีละ 2 ครั้ง

3. สำนักงานเลขาธิการ (UNESCO Secretariat)
สำนักงานเลขาธิการเป็นองค์กรบริหารงานที่รับผิดชอบงานประจำวันและกิจกรรมที่เป็นงานระหว่างชาติภายใต้ผู้อำนวยการใหญ่ จะต้องดำเนินการติดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารและที่ประชุมสมัยสามัญ องค์การมีผู้อำนวยการใหญ่เป็นผู้บริหารสูงสุด อยู่ในวาระ 6 ปี มีรองผู้อำนวยการใหญ่ และผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่

กลไกระดับชาติของประเทศสมาชิก

1. คณะผู้แทนถาวรประจำยูเนสโก (Permanent Delegate to UNESCO)

          คณะผู้แทนถาวรประจำยูเนสโกเป็นองค์กรที่รัฐสมาชิกแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นสำนักงานของรัฐสมาชิกที่จัดตั้งไว้ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การ ณ กรุงปารีส บางประเทศจะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน เพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเป็นผู้แทนถาวรประจำยูเนสโก หรือแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีสของตนเองเป็นผู้แทนถาวรและมอบให้เจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นผู้ประสานงาน หรือแต่งตั้งรองผู้แทนถาวรของตนไปประจำ ณ สำนักงานคณะผู้แทนถาวรของตนที่มีสำนักงานอยู่ในสำนักงานใหญ่ขององค์การที่กรุงปารีส

          คณะผู้แทนถาวรประจำยูเนสโกมีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นผู้แทนรัฐบาลในกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับยูเนสโก กรุงปารีส ประสานงานระหว่างองค์การฯ กับสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ ในประเทศที่มีกิจกรรมร่วมกับยูเนสโก เป็นผู้แทนประเทศในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้แทนทั้งด้านวิชาการและงานบริหาร การประสานงานการหาเสียงสนับสนุนและท่าทีของกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อประโยชน์ในการกำหนดท่าทีและแนวนโยบาย ตลอดจนเผยแพร่เกี่ยวกับงานของประเทศตน

ในส่วนของประเทศไทย มีองค์ประกอบดังนี้

• ผู้แทนถาวรไทย: เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส

• รองผู้แทนถาวรไทย : ผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ

2. คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) : National Commission for UNESCO

          ธรรมนูญของยูเนสโกได้กำหนดให้มีหน่วยงานประสานงานหรือคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เพื่อประสานงานของรัฐสมาชิกแต่ละรัฐกับองค์การเพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานสำคัญ ๆ ของประเทศ ซึ่งดำเนินการทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ตลอดจนเผยแพร่ข่าวสารทางวิชาการต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่ปรากฏในกฎบัตรของยูเนสโกว่าด้วยคณะกรรมการแห่งชาติ ฯ

ในส่วนของประเทศไทย คณะกรรมการแห่งชาติฯ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1) พิจารณาเสนอแนะและให้คำปรึกษาหารือแก่รัฐบาลในด้านนโยบายและการดำเนินงาน ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

2) เข้าร่วมในการวางแผนและดำเนินงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชนขององค์การยูเนสโก

3) ประสานงานกับรัฐบาล หน่วยงาน องค์การ สถาบัน และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกประเทศในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชนขององค์การยูเนสโก

4) ส่งเสริมให้หน่วยราชการและสถาบันต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของรัฐบาลและไม่ใช่ของรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมและดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชนขององค์การยูเนสโก

5) ร่วมมือกับคณะกรรมการแห่งชาติของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นรัฐสมาชิกขององค์การยูเนสโก ในการจัดกิจกรรมด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชนขององค์การยูเนสโก

6) เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความมุ่งหมายโครงการและกิจกรรม ตลอดจนกระตุ้นความสนใจของประชาชนทั่วไปในงานขององค์การยูเนสโก

7) ติดตามการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวกับงานการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชนขององค์การยูเนสโก

8) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรเกี่ยวกับวัตถุประสงค์โดยทั่วไปขององค์การยูเนสโก

9) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการได้ตามความจำเป็น

3. สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ของประเทศไทย : The Thai National Commission for UNESCO

          สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ฯ เป็นองค์กรบริหารงานของประเทศไทย ที่รับผิดชอบ งานประจำวันและกิจกรรมต่าง ๆ ของยูเนสโก จะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานในระดับชาติของกิจกรรมที่อยู่ในขอบข่ายงานของยูเนสโก ทั้ง 5 สาขา คือ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ มักจะตั้งอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงศึกษาธิการตามแต่ประเทศสมาชิกจะกำหนดโครงสร้างของตน โดยจะเรียกว่าสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Secretariat of the National Commission for UNESCO)

ในส่วนของประเทศไทยตั้งอยู่ที่สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ และมีองค์ประกอบดังนี้

• เลขาธิการ: รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับมอบหมาย

• รองเลขาธิการ: ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. กระทรวงศึกษาธิการ

• ผู้ช่วยเลขาธิการ : ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือกับยูเนสโก สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. กระทรวงศึกษาธิการ

4. คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับองค์การยูเนสโก

คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติงานเฉพาะด้านตามภารกิจและความชำนาญตามสาขางานขององค์การยูเนสโก ได้แก่

- คณะกรรมการฝ่ายการศึกษาของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน

- คณะกรรมการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

มีปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน

- คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

มีปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน

- คณะกรรมการฝ่ายสื่อสารมวลชนของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน

- คณะกรรมการฝ่ายสังคมศาสตร์ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

มีเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นประธาน

- คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

มีอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน

- คณะกรรมการโครงการมนุษย์และชีวมณฑลของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน