Loading color scheme

โครงสร้างองค์กร

N chart3 โครงสร้าง สต. 28 4 2566

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. แบ่งการบริหารภายในเป็น 6 กลุ่มดังนี้

1. กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก

มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานและพัฒนาความร่วมมือกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หน่วยงานชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ แผนงาน และงบประมาณของยูเนสโก ส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรไทย เพื่อปฏิบัติงานหรือเข้าร่วมโครงการและกิจกรรมในขอบข่ายงานของยูเนสโก กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณ โครงการและกิจกรรมในขอบข่ายความร่วมมือกับยูเนสโก

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission for UNESCO) แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับองค์การยูเนสโกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้กรอบงานยูเนสโกของหน่วยงานภายในประเทศ โดยผ่านการปรึกษาหารือ และข้อเสนอแนะในการดำเนินงานจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ แห่งสหประชาติ ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ภายใต้สาขางานยูเนสโก ได้แก่ คณะกรรมการฝ่ายการศึกษา คณะกรรมการฝ่ายวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม คณะกรรมการฝ่ายสังคมศาสตร์ และคณะกรรมการฝ่ายสื่อสารมวลชน และคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ พิจารณาให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เฉพาะด้าน

2. กลุ่มความร่วมมือพหุภาคี

มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานวางแผน และจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานกับองค์การระหว่างประเทศ และดำเนินการตามกรอบความร่วมมือพหุภาคีต่าง ๆ อาทิ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) การเปิดเสรีทางการศึกษาภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และธนาคารโลก (WORLD BANK) รวมถึงธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)  ตลอดจนส่งเสริม และดำเนินงานความร่วมมือด้านการศึกษาภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเชีย-แปซิฟิค (APEC) ความร่วมมือเอเชีย – ยุโรป (ASEM) สหภาพยุโรป (European Union) และองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศต่าง ๆ (INGO) เป็นต้น

 3. กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค

มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานกับองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) รวมถึงความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ สำนักเลขาธิการอาเซียน และประเทศสมาชิก ความร่วมมือด้านการศึกษากับอาเซียนบวกสาม เอเชียตะวันออก และประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ ตลอดจนศูนย์/เครือข่ายภายใต้องค์การซีมีโอ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินงานผ่านกรอบการประชุมระดับนโยบาย คือ ระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส จนถึงความร่วมมือทางวิชาการ และการสร้างเครือข่ายระหว่างกันในทุกระดับ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือของอนุภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady–Chao Phraya–Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย (Indonesia–Malaysia–Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong–Lancang Cooperation) ความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong–Japan Cooperation) ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong– Republic of Korea Cooperation) ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา (Mekong–Ganga Cooperation) และความร่วมมือข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative : LMI) เป็นต้น

4. กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี

มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาและแปซิฟิก และยุโรป โดยแสวงหาและดำเนินความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยบนพื้นฐานของ ความเข้าใจอันดีและความเท่าเทียมกันระหว่างประเทศ ประสานการจัดเข้าพบหารือ และ การดำเนินการด้านสารัตถะและพิธีการทูต ในโอกาสที่ผู้แทนจากต่างประเทศเข้าพบผู้บริหารระดับสูง ศึกษา วิเคราะห์ และประมวลท่าทีแนวโน้มของประเทศคู่เจรจา เสนอแนะและกำหนดประเด็นและท่าทีของไทยในการเข้าร่วมเจรจาทวิภาคี จัดทำความตกลงระหว่างประเทศด้านการศึกษา ติดตามและผลักดันการดำเนินงานตามข้อตกลงหรือผลการเจรจา จัดประชุมคณะทำงานภายใต้ข้อตกลง ส่งเสริมและสนับสนุนด้านทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการและบุคลากรทางการศึกษาของไทย สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาของประเทศที่ต้องการความร่วมมือจากรัฐบาลไทย ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนนโยบาย ความมั่นคงและการแก้ไขปัญหาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

5. กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ

มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำนโยบาย ทิศทางความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งด้านพหุภาคีและทวิภาคี แผนความร่วมมือและแผนปฏิบัติการด้านการศึกษากับต่างประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายรัฐบาลในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ งานจัดตั้งงบประมาณของหน่วยงานและสำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก ณ กรุงปารีส งานงบประมาณด้านต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ การจัดทำตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ งานติดตาม ประเมินผล การรายงานผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงาน และการรายงานผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ และงานโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน รวมทั้งงานการสนับสนุนและส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารวิชาการเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์ของสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาเว็ปไซต์สำนักฯ จัดทำ/ดูแลและพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศกลางด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับการศึกษา จัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายความร่วมมือด้านต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการกับหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง งานแปลเอกสารวิชาการที่เกี่ยวกับความร่วมมือกับต่างประเทศด้านการศึกษา งานผลิตเอกสารและสิ่งพิมพ์เผยแพร่ในลักษณะสิ่งพิมพ์และเอกสารออนไลน์ งานจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ร่วมกับองค์กร หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงงานของ ศูนย์เอกสารนานาชาติเพื่อให้บริการ และเผยแพร่เอกสารสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับนานาชาติโดยเฉพาะในขอบข่ายความร่วมมือกับยูเนสโก ซีมีโอ อาเซียน และองค์การระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตนเองอีกด้วย

6. กลุ่มอำนวยการต่างประเทศ

มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบริหารทั่วไป งานแผนงานและงบประมาณของสำนักงานบริหารการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปีด้านต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ การจัดสรรเงินอุดหนุนกิจการด้านต่างประเทศตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ประสานการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก ติดตามและวางแผนบำรุงรักษาสำนักงานองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการต้อนรับและอำนวย ความสะดวกตามพิธีการต้อนรับและรับรองแก่คณะผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศและชาวต่างประเทศที่เป็นแขกของรัฐบาลและผู้ที่มาร่วมประชุม งานบริหารทุนรัฐบาลผ่าน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สนับสนุนการจัดประชุม ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาคและนานาชาติ รวมทั้งงานธุรการ งานบุคลากร งานข้าราชการลาไปต่างประเทศ งานสารบรรณ พัสดุครุภัณฑ์ อาคารสถานที่ งานอำนวยความสะดวกผู้บริหารและข้าราชการเดินทางไปราชการต่างประเทศ และงานเลขานุการผู้อำนวยการสำนักฯ

อ่านรายละเอียดหน่วยงานภาษาอังกฤษได้ที่นี่ : Click