Loading color scheme

หน้าที่และอำนาจ

บทบาทหน้าที่และอำนาจของสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ความเป็นมา
กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินงานความร่วมมือกับต่างประเทศมาเป็นเวลานาน แต่ได้หยุดชะงักไปในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาภายหลังสงครามโลกดังกล่าวกระทรวงศึกษาธิการได้มีการติดต่อกับต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง แต่งานการติดต่อกับต่างประเทศในขณะนั้นยังไม่มีกองงานใดรับผิดชอบโดยเฉพาะ หลังจากที่ทหารพันธมิตรเคลื่อนย้ายออกจากประเทศไทยไปแล้ว ได้มีองค์การต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยมากขึ้น เช่น องค์การบริหารวิเทศกิจสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (USOM) มูลนิธิการศึกษาตามรัฐบัญญัติฟุลไบรท์ (Fulbright) นอกจากนี้ยังมีองค์การระหว่างประเทศเกิดขึ้นอีกมากมายที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย โดยเฉพาะองค์การที่กระทรวงศึกษาธิการติดต่อด้วยมากที่สุด คือ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO)

เมื่อกิจการด้านต่างประเทศเพิ่มปริมาณมากขึ้นกระทรวงศึกษาธิการจึงจัดตั้งกองพิเศษให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศและรับรองชาวต่างประเทศโดยตรง ในที่สุดได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ตั้งกองการต่างประเทศ ให้สังกัดในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ม.ล.มานิจ ชุมสาย เป็นผู้อำนวยการกองคนแรก และแบ่งงานเป็น 3 แผนก ดังนี้
1. แผนกองค์การต่างประเทศ
2. แผนกข่าวสาร
3. แผนกการศึกษาต่างประเทศ

ต่อมาในปี พ.ศ.2494 ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาการจัดวางระเบียบราชการสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดกระทรวงในกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2494 ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2494 จากการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ปรากฏว่ากองในสำนักงานปลัดกระทรวง คือ กองการต่างประเทศ ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกองการสัมพันธ์ต่างประเทศ และในปี พ.ศ.2521 มีการแบ่งงานออกเป็น 4 ฝ่าย  ดังนี้
1. ฝ่ายองค์การต่างประเทศ
2. ฝ่ายข่าวสารและวิชาการ
3. ฝ่ายการศึกษาต่างประเทศ
4. ฝ่ายประสานงาน (ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นฝ่ายประสานงานและการประชุมนานาชาติเมื่อปี พ.ศ.2528)

ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้กองการสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  มีการปรับโครงสร้างใหม่เป็น “สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ” โดยปรับปรุงบทบาท ภารกิจ การจัดระบบการบริหารงาน การจัดสำนักงานและการวางกำลังคนให้เหมาะสมตามโครงสร้างใหม่

หน้าที่และอำนาจ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีภารกิจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2548 ดังนี้
  1. ประสานงานการดำเนินงานด้านการต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการกับองค์การที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
  2. จัดทำนโยบายและแผนความร่วมมือและงบประมาณด้านต่างประเทศ
  3. จัดทำฐานข้อมูลกลางด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับการศึกษา
  4. ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา ให้บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการศึกษากับต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค
  5. ประสานการระดมทรัพยากรและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาบุคลากรของกระทรวง รวมทั้งประสานการระดมนักวิชาการเพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานระหว่างประเทศ
  6. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

***********************************************