Loading color scheme

ไทยพร้อมสนับสนุนข้อเสนอด้านการดูแลและพัฒนาการศึกษาระดับปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระหว่างการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย

N asean 2023

          เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช)พร้อมด้วยนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนประเทศไทยได้เข้าร่วม การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีด้านการดูและและจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Ministerial Roundtable at the Southeast Asia Policy Dialogue on Early Childhood Care and Education) ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูปการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Transforming Early Childhood Care and Education (ECCE) in Southeast Asia) ซึ่งมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีผู้บริหารระดับสูง และระดับนโยบายจากประเทศสมาชิกอาเซียน10ประเทศ และภาคีเครือข่ายอื่นๆ เช่น ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยและบทบาทสถาบันครอบครัวของซีมีโอ – ซีเซ็พ(SEAMEO Regional Centre for Early Childhood Care and Education and Parenting: CECCEP) องค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซพ เข้าร่วมการประชุมด้วย 

IMG 6159

          ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้แสดงความมุ่งมั่นร่วมกันในการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะนำมาสู่การรับรองปฏิญญาว่าด้วยการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration on Early Childhood Care and Education in Southeast Asia)ที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนประถมศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสและเปราะบาง สนับสนุนให้มีการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และรับรองสิทธิของเด็กให้ได้รับการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาอย่างน้อย ปี ให้ความสำคัญกับคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวรับกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

IMG 6158

          ในโอกาสนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ได้แสดงถึงวิสัยทัศน์ด้านการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิด เพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ  โดยได้ยกตัวอย่างโครงการ “บ้านวิทยาศาสตร์น้อย”ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานพระราชดำริให้ริเริ่มโครงการนำร่องในประเทศ โดยนำโครงการนี้มาจากประเทศเยอรมันเมื่อปี พ.ศ. 2552 เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีด้านการเรียนรู้ทักษะและกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเด็กในระดับปฐมวัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยงานพันธมิตร ในระยะเริ่มแรกมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 221 แห่ง ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 29,000 แห่ง พร้อมกันนี้ได้นำเสนอแนวคิดในเรื่องโคดดิ้ง (Coding) ที่เป็นกระบวนการเรียนรู้โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก เป็นการสอนให้เด็กมีเหตุมีผล พึ่งตัวเองได้ แก้ปัญหาชีวิต ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Active Learning นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความสำคัญของปฏิญญาว่าด้วยการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ประเทศสมาชิกสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการร่วมกัน เป็นความท้าทายและการลงทุนที่คุ้มค่าได้เรียนรู้ เปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันในภูมิภาค เพื่อพัฒนาเด็กทุกคนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีอนาคตที่ดีต่อไป 

          การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม วิจัยและเทคโนโลยี สาธารณรัฐอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปี พ.ศ. 2566 ร่วมกับศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยและบทบาทสถาบันครอบครัวของซีมีโอ – ซีเซ็พ (SEAMEO Regional Centre for Early Childhood Care and Education and Parenting: CECCEP)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมหารือและเจรจาด้านนโยบายเกี่ยวกับการดูแลเด็กและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Policy Dialogue on Early Childhood Care and Education) ระหว่างวันที่  25- 26 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูปการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Transforming Early Childhood Care and Education (ECCE) in Southeast Asia)วัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพิ่มความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของคุณภาพการเรียนด้านการศึกษาปฐมวัยของเด็ก 2) หารือด้านนโยบายและการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนภาพรวมของการเรียนการสอนด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัยในภูมิภาค 3) เพิ่มความมุ่งมั่นร่วมกันในการสนับสนุนการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพแบบองค์รวม ครอบคลุม สร้างสรรค์ และยืดหยุ่น และ 4) เป็นเวทีสำหรับแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กปฐมวัยในภูมิภาค โดยที่ประชุมได้มีการรับรองปฏิญญาว่าด้วยการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในช่วงเดือนกันยายน 2566 

สรุป/เรียบเรียง : รุ่งกานต์ พันธุ์ภักดี
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
27 กรกฎาคม 2566