ข่าวความเคลื่อนไหว
การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการไทย-เวียดนาม ครั้งที่ ๒
เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๕ นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ และนางศิริพร กิจเกื้อกูล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการไทย-เวียดนาม ครั้งที่ ๒ ซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน ณ International Conference Center กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการไทย-เวียดนาม เป็นเวทีที่สำคัญต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยฝ่ายไทยเห็นว่า ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามได้มีพัฒนาการและความคืบหน้าหลากหลายมากขึ้น และเวียดนามถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญในภูมิภาค จึงควรจะได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงมีเป้าหมายให้ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มหารือเกี่ยวกับแนวทางขยายความร่วมมือกันต่อไป ทั้งนี้ ได้แบ่งการประชุมหารือออกเป็น ๓ กลุ่มย่อย ได้แก่ (๑) กลุ่มการเมืองและความมั่นคง (๒) กลุ่มเศรษฐกิจ (๓) กลุ่ม สังคม วัฒนธรรมและการศึกษา โดยมี รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแต่ละกลุ่มเป็นประธานการหารือกลุ่มย่อย
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาได้มีการหารือร่วมกัน ดังนี้
๑.ผู้แทนฝ่ายไทยได้กล่าวแสดงความยินดีต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-เวียดนามซึ่งมีการพัฒนาที่ดีมาก โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการจัดทำบันทึกความตกลงด้านการศึกษา (MOU) และจัดประชุมคณะทำงานร่วม (Joint Working Group) แล้ว ๒ ครั้ง จึงขอให้เร่งรัดดำเนินงานกิจกรรม/โครงการที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว และฝ่ายไทยขอเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วม (JWG) ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๕๖ นอกจากนี้ฝ่ายไทยประสงค์จะขอครูอาสาสมัครเวียดนาม ๑๐ คน เพื่อสอนภาษาเวียดนามในโรงเรียนของไทย ขณะเดียวกันก็ยินดีเสนอทุนฝึกอบรมภาษาไทยระยะสั้นให้แก่นักศึกษาเวียดนาม จำนวน ๒๐ ทุนด้วย
๒. ผู้แทนฝ่ายเวียดนามกล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทุกด้าน แม้ว่าทุนที่รัฐบาลไทยให้แก่เวียดนามจะยังมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อการผลิตบุคลากรสายวิชาชีพของเวียดนาม ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของเวียดนาม ๕ แห่งเปิดสอนภาษาไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมคนให้แก่บริษัทของไทยที่ไปลงทุนในเวียดนามเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ฝ่ายเวียดนามเห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายไทย และมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้
๒.๒ ขอให้เพิ่มการสนับสนุนทุนเพื่อไปศึกษาต่อสายวิชาการ
๒.๓ ควรมีการจัดตั้งศูนย์ไทยศึกษา 1 แห่ง ในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาไทย
๒.๔ ขอให้สนับสนุนการสอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยของเวียดนาม
๒.๕ เสนอให้มีโรงเรียนเครือข่ายไทย-เวียดนาม
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๕