Loading color scheme

การหารือด้านการศึกษากับเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร

 

 

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยได้กล่าวถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรที่มีมาอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น โดยดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาผ่านทาง British Council โดยปัจจุบันได้ดำเนินความโครงการด้านการศึกษาหลายโครงการ อาทิ โครงการผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษ (Thailand English Teaching Project) โครงการจัดทำเนื้อหาการสอนภาษาอังกฤษบรรจุในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ตลอดจนโครงการอบรมครูภาษาอังกฤษภาคใต้  จำนวนกว่า 1,100 คน ซึ่งเป็นการอบรมผ่านหลักสูตรรูปแบบผสมผสานระหว่างการเรียนในชั้นเรียน (face-to-face training) และการฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ พร้อมด้วยแหล่งฝึกฝนด้วยตนเอง โดยระยะเวลาของหลักสูตร รวมทั้งสิ้น 240 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 6 เดือน สิ่งที่ครูอาจารย์จะได้รับหลังจากจบหลักสูตร ได้แก่ การยกระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการอบรมในเดือนพฤศจิกายน 2556 British Council ประสงค์จะเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้มอบประกาศนียบัตรให้แก่ครูที่ผ่านการอบรมด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย รวมทั้งBritish Council ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ด้านการศึกษาแก่ประเทศไทยด้วยดีมาตลอด ในโอกาสนี้ได้เสนอความร่วมมือกับสหราชอาณาจักร 2 ประเด็น

ประการแรก ได้แก่ การเชิญภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาของไทย ในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public-Private Partnership) โดยให้ภาคธุรกิจเข้ามีบทบาทในการคัดคนเข้าสู่การทำงานตั้งแต่ต้นกระบวนการ เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จบอาชีวศึกษา หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน การฝึกปฏิบัติงานในบริษัท/โรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษามีทักษะฝีมือที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายในเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายสามัญและอาชีวศึกษาเป็น 50:50 จากปัจจุบันอยู่ที่ 70:30 เพื่อให้มีบุคลากรที่คุณภาพเพียงพอในการรองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในส่วนของการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้มีการปรับยุทธศาสตร์การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน เช่น กลุ่มนักเรียนโรงเรียนสองภาษา (English Programme)  โรงเรียนนานาชาติ (International School) ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้จริง และสามารถเลื่อนลำดับการสอบ PISA ให้สูงขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากสหราชอาณาจักรในการเสนอผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อการทำยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ ซึ่งเอกอัครราชทูตตอบยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการต่างๆข้างต้น

----------------------------------

 

กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.

กระทรวงศึกษาธิการ

28   สิงหาคม 2556