Loading color scheme

บทความเรื่อง 20 ปี แห่งความเป็นพันธมิตร สามคำถามกับฌอง-พอล แอกง

cou 01 18 agon 01

ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบยี่สิบปีของการดำเนินโครงการลอริอัล-ยูเนสโกเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ท่านมองความร่วมมือระหว่างลอริอัลและยูเนสโกเป็นอย่างไร?

ความร่วมมือระหว่างลอริอัลกับยูเนสโกเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดา ในปี 1998 เมื่อลอริอัลและยูเนสโกได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการ “ลอริอัล-ยูเนสโกเพื่อสตรี ในงานวิทยาศาสตร์” พวกเรามีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสตรีในงานวิทยาศาสตร์ โดยได้มีการมอบรางวัลความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่สตรีที่มีความสามารถโดดเด่น และคู่ควรกับรางวัลดังกล่าวในการดำเนินการข้างต้น พวกเราได้ค้นหาพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์เช่นเดียวกับเราในด้านวิทยาศาสตร์  และพร้อมที่จะร่วมสร้างสังคมสำหรับทุกคนให้มากขึ้น การเป็นพันธมิตรกับยูเนสโกนับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากพวกเราให้ความสำคัญกับคุณค่าอันเป็นสากล และความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน โครงการของเราได้ก้าวหน้าไปอย่างงดงาม ไม่เพียงแต่เราจะมอบรางวัลประจำปีให้แก่สตรีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถ 5 คน ซึ่งแต่ละคนจะเป็นตัวแทนใน 5 ทวีป แล้ว เรายังได้มอบรางวัลให้แก่นักวิจัยรุ่นเยาว์ใน 115 ประเทศอีกด้วย
    ในระยะเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา พวกเราได้สนับสนุนสตรีมาแล้วกว่า 2,700 คน ยูเนสโกเป็นพันธมิตร ที่มีคุณค่ายิ่งในการยกระดับโครงการนี้สู่ระดับนานาชาติ นอกจากนี้ มูลนิธิลอริอัลยังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการถ่ายทอดความรู้ และทักษะ เพื่อสนับสนุนนักวิจัยสตรีในทุกขั้นตอนของการทำงาน โดยได้นำพวกเธอปรากฏตัวต่อสาธารณชน พร้อมทั้งย้ำถึง ความสำคัญของสตรีในงานวิทยาศาสตร์ หากเราต้องการแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยของเรา
    ทำไมการส่งเสริมสตรีในงานวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญ ?

โลกมีความเปลี่ยนแปลง และไม่แน่นอนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พวกเรากำลังปฏิรูปเทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม และกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้น พวกเรากำลังละทิ้งผู้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์จำนวนครึ่งหนึ่งของโลกไปได้อย่างไร? เราจะสร้างโลกสำหรับทุกคนโดยปราศจากสตรีได้อย่างไร? เราจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากความสามารถของคนที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึงจากสตรีด้วย  เพื่อการแก้ไขสิ่งท้าทาย และความซับซ้อนที่ไม่ธรรมดาในยุคของเรา  ในทุกวันนี้ สตรียังคงถูกกีดกั้นการเข้าร่วมในโลกวิทยาศาสตร์ ในสถานที่ซึ่งยังคงมีกำแพงกีดกั้นสตรี และนี่คือสภาพความเป็นจริงอันแสนขมขื่น
    นักวิจัยสตรีมีเพียงร้อยละ 30 โดยประมาณ มีจำนวนร้อยละ 3 เท่านั้นที่ได้รับรางวัลโนเบิลในสาขาวิทยาศาสตร์นับตั้งแต่มีการมอบรางวัล ในขณะที่ปี 2017 ไม่มีสตรีใดเลยที่ได้รับรางวัล  ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หรือมูลนิธิลอริอัล พวกเราไม่สามารถที่จะมโนภาพโลกใบนี้ได้เลย หากปราศจากการมีส่วนร่วมของสตรี
    โครงการลอริอัล-ยูเนสโกเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ มีการส่งเสริมสตรีนักวิทยาศาสตร์อย่างไร ?
ในช่วง 20 ปีที่แล้ว โครงการนี้ได้ใช้วิธีการยกย่องและส่งเสริมสตรีนักวิทยาศาสตร์  ด้วยการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของพวกเธอในสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ การส่งเสริมสตรีซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่น สิ่งเหล่านี้คือหลักการเบื้องต้นในการสนับสนุน และส่งเสริมสตรีรุ่นเยาว์ให้ประกอบอาชีพวิทยาศาสตร์  
    แต่หากเราย้อนกลับไปมองที่จำนวนตัวเลข   ย่อมชัดเจนว่าการกระทำเพียงแค่นี้ยังไม่เพียงพอ  ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา  แม้จะมีการเพิ่มขึ้นของสตรีที่ทำวิจัยประมาณร้อยละ 12   มีจำนวนสตรีประกอบอาชีพในงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น  มีสตรีจำนวนครึ่งหนึ่งลงทะเบียนในชั้นเรียนปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัย แต่สตรียังคงถูกกีดกั้นการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ตามรายงานของยูเนสโก UNESCO Science Report : Towards 2030 ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2015 กล่าวว่ามีเพียงร้อยละ 11 ของสตรีเท่านั้นที่ดำรงตำแหน่งนักวิชาการอาวุโส

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าโครงการของเราได้ช่วยสร้างความตระหนัก และขับเคลื่อนชุมชนด้านวิทยาศาสตร์ พวกเราจะต้องรุดหน้าไปให้ไกลกว่านี้ ต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม หรืออาจกล่าวว่าต้องทำงานร่วมกับสถาบันและหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งกับบุรุษ การดำเนินงานที่สร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ของโครงการ ลอริอัล-ยูเนสโกเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์  เดินไปไกลกว่าโครงการสตรีที่ต่อสู้เรียกร้องโดยสตรีเท่านั้น หากแต่เป็นการส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในการสร้างโลกสำหรับทุกคน  เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมที่ยุติธรรมและมีดุลยภาพเพื่อเราทุกคน และสามารถตอบสนองความท้าทายของโลกแห่งปัจจุบัน


 *******************************************

 translated by : Mrs. Kanittha Hanirattisai