Loading color scheme

บทความเรื่อง “ไกรลาส สัตยาธิ : ต่อสู้เพื่อสิทธิของเด็ก : ก้าวทีละก้าว”

แปลจากบทความเรื่อง “ไกรลาส สัตยาธิ : ต่อสู้เพื่อสิทธิของเด็ก : ก้าวทีละก้าว”
(Kailash Satyarthi: Fighting for children’s rights, one step at a time)
วารสารยูเนสโก คูริเย Education: Still searching for Utopia? ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม 2561

สัมภาษณ์โดย Mary de Sousa

 

เด็กๆ อาจได้รับสิทธิทางการศึกษา แต่ปัจจุบัน พวกเขาต้องได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิของเขาด้วย นี่คือความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นกับนายไกรลาส สัตยาธิ (Kailash Satyarthi) เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2014   นับตั้งแต่ปี 1980  นายสัตยาธิคือบุรุษแถวหน้าที่ได้ต่อสู้กับการที่เด็กต้องตกเป็นทาส และการใช้แรงงานเด็ก นับตั้งแต่ที่เขาได้ก่อตั้งขบวนการ Bachpan Bachao Andolan (ขบวนการช่วยเหลือเด็ก) ทำให้เด็กในอินเดียกว่า 85,000 คน รอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยได้รับการศึกษาและการฟื้นฟู นายสัตยาธิ ได้เล่าให้ยูเนสโก คูริเยฟัง ถึงการที่เขาเริ่มต้นพัฒนาชีวิตเด็กเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร?  อะไรคือสิ่งที่เขาหวังจะเห็นโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย  และทำไมเขาจึงเชื่อว่าการปลดปล่อยเด็กที่แท้จริงต้องเริ่มต้นจากการให้การศึกษาแก่เด็กเหล่านั้น

 

     cou 01 18 try harder 01

     คุณเกิดแรงกระตุ้นที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเด็กๆ ที่ไหน และอย่างไร ?
เมื่อผมอายุ 5 ขวบ วันแรกที่ผมไปโรงเรียน ผมพบเด็กชายคนหนึ่ง อายุรุ่นราวเดียวกับผม นั่งอยู่ข้างนอกโรงเรียน และมองมาที่รองเท้าผม เด็กคนนั้นมีกล่องขัดรองเท้าอยู่ข้างหน้าเขา ผมรู้สึกระสับกระส่ายขึ้นมาทันที คำถามแรกที่ผมถามครูก็คือ ทำไมเขาจึงมานั่งอยู่นอกโรงเรียน แทนที่จะอยู่ในโรงเรียน และคำตอบที่ผมได้รับก็คือ นั่นเป็นสิ่งปกติสำหรับเด็กยากจนที่ต้องทำงาน
วันหนึ่งผมได้ถามพ่อของเด็กคนนั้นในเรื่องนี้ คำตอบที่ผมได้ก็คือ พ่อ และตาของเด็กก็เป็นคนขัดรองเท้า พ่อของเด็กได้พูดกับผมว่า “คุณหนูไม่รู้เหรอครับว่าเด็กอย่างคุณหนูเกิดมาเพื่อที่จะไปโรงเรียน และคนเช่นพวกผมเกิดมาเพื่อที่จะทำงาน ?” ความสงสัยนั้นเกาะกินใจผมตลอดมา แต่ผมยังไม่สามารถหาคำตอบได้เพราะเป็นเพียงเด็กคนหนึ่ง
 เมื่อผมโตขึ้น ผมได้นำตำราเรียนเล่มเก่าของผม และเงินที่ได้จากการเก็บหอมรอบริบไปใช้เป็นค่าเล่าเรียนสำหรับเด็กยากจน ผมเรียนมาในด้านวิศวกรรมไฟฟ้า แต่ผมไม่เคยเลิกล้มความคิดที่จะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ ผมออกจากงานของผม เพื่อที่จะมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

     คุณคิดว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ครั้งแรกของคุณคืออะไร ?
ผมเริ่มต้นด้วยการเขียน และพิมพ์ใบปลิวหลายพันฉบับแจกจ่ายในตลาดเพื่อเป็นการรณรงค์ช่วยเด็ก ผมเชื่อว่าการศึกษา และการช่วยเหลือเด็กคือสองด้านในเหรียญเดียวกัน เมื่อผมพยายามชักชวนให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของปัญหาแรงงานเด็ก  ไม่ปรากฏผลกระเตื้องขึ้นเลย อินเดียไม่มีกฎหมายต่อต้านแรงงานเด็กจนถึงปี 1986 ผมได้ต่อสู้เพื่อกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กนานถึง 6 ปี และปัจจุบันมันก็ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การต่อสู้จึงต้องดำเนินต่อไป เมื่อผมช่วยเหลือเด็กรอดพ้นจากการเป็นทาส และขอให้พวกเขาได้เข้าเรียน ผมถูกเย้ยหยันครั้งแล้ว ครั้งเล่า  พวกเขาบอกว่าเด็กหล่านี้สกปรก ไม่ควรต้องได้รับการใส่ใจ พวกเราไม่ควรให้เด็กเหล่านั้นอยู่ในโรงเรียน  
ผมได้พูดเรื่องนี้กับเพื่อนซึ่งเป็นนักกฎหมาย  เพื่อนได้บอกผมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะในรัฐธรรมนูญของอินเดียไม่ได้มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน มีเพียงในปี 2001 ที่ได้มีการเคลื่อนไหวของมวลชนจนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 86 โดยให้การศึกษาเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน

     การรณรงค์เรื่องแรงงานเด็กของคุณเริ่มต้นในอินเดีย แต่ต่อมากลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
มันใช้เวลาสองทศวรรษก่อนที่จะกลายเป็นประเด็นโลก เมื่อผมได้ก่อตั้งสมาคม Bachpan Bachao Andolan (สมาคมเพื่อการช่วยเหลือเด็ก) ในประเทศอินเดีย เมื่อปี 1980 พบผมว่าไม่มีหน่วยงานใดในสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กองทุนช่วยเหลือเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือธนาคารโลก มีกลไกกฏหมายเพื่อการปกป้องเด็กจากการเข้าสู่แรงงาน การค้ามนุษย์ การค้าประเวณี และการประกอบอาชีพที่เป็นอันตรายอื่นๆ ผมเริ่มมองไปที่ปากีสถาน เนปาล และบังกลาเทศ และตระหนักว่าประเทศเหล่านี้มีปัญหาร่วมสมัยเกี่ยวกับเรื่องทาสเด็กเช่นกัน ผมจึงได้เข้าร่วมในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และตัดสินใจที่จะทำงานด้านกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการนำเด็กเป็นทาส ผมได้รณรงค์เรื่องนี้  ในยุโรปและอเมริกา และเริ่มต้นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านแรงงานเด็กขึ้นในเยอรมนี  ซึ่งส่งผลให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ได้ดำเนินโครงการระหว่างประเทศเพื่อยกเลิกแรงงานเด็กในปี 1992 และต่อมาองค์การยูนิเซฟ และธนาคารโลกได้เข้าร่วมโครงการ

ในปี 1993 โครงการ BBA ได้เริ่มต้นครั้งแรกในรูปแบบของการเดินประท้วงเพื่อต่อต้านแรงงานเด็กในอินเดีย อีกห้าปีต่อมา พวกเราได้ดำเนินโครงการเดินทั่วโลกเพื่อต่อต้านแรงงานเด็ก(Global March Against Child Labour) เป็นระยะทาง 80,000 กิโลเมตร ใน 103 ประเทศ ใช้เวลานานถึง 6 เดือน ผลสำเร็จที่งดงามในเรื่องนี้ได้นำไปสู่การประกาศใช้อนุสัญญาขององค์การแรงงานโลก ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก (The Worst Forms of Child Labour) อนุสัญญานี้ผ่านการรับรอง  โดยมี 181 ประเทศได้ให้สัตยาบรรณ เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 1999 20 ปีภายหลังจากการที่ผมได้แจกใบปลิวเป็นครั้งแรกในอินเดีย

cou 01 18 try harder 02
     สิบปีที่แล้ว ท่านได้ดำเนินโครงการเดินประท้วงในเอเชียใต้ เพื่อช่วยเหลือการต่อต้านการใช้แรงงานที่ถูกบังคับในภูมิภาค และเมื่อเร็วๆ นี้ ในเดือนกันยายน 2017 มีการเดินประท้วง Bharat Yatra เพื่อยุติการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและการค้ามนุษย์ อะไรทำให้คุณดำเนินโครงการเดินประท้วงเหล่านี้ ?
การเดินเท้า Bharat Yatra เป็นการเดินประท้วงทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 11,000 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 36 วัน ภายใต้แคมเปญ“ทำให้อินเดียปลอดภัยอีกครั้งเพื่อเด็ก” การล่วงละเมิดทางเพศเด็กกำลังเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก แต่ในอินเดีย ปัญหานี้กลายเป็นโรคระบาดสมัยใหม่ – เยาวชนถูกละเมิด ข่มขืน หรือถูกล่อลวงในแต่ละวัน เด็กถูกขายในทุกสองนาทีและถูกล่วงละเมิดทางเพศทุกๆ ครึ่งชั่วโมง   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บ่อยครั้งที่ผู้กระทำผิดเป็นคนขับรถโรงเรียน ครู และผู้สอน ในขณะที่ผู้ทำผิดยังคงลอยนวล และไม่เกรงกลัวต่อความผิดที่ได้ทำ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายได้แต่ปิดปากเงียบด้วยความรู้สึกอับอาย

ผมรู้ดีว่ากำลังต่อสู้เพื่อเด็กทุกๆ คน เพื่อให้สามารถเข้าเรียน แต่ในความเป็นจริง เด็กๆ ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไปในโรงเรียน สิ่งแรกที่จะต้องเปลี่ยนแปลงได้แก่ การกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับการละเมิดเด็ก สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของมวลชน ดังนั้น พวกเราจึงต้องใช้ยุทธศาสตร์การเดินประท้วง เราได้พบปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก เช่น การแต่งงานในวัยเด็ก และการแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการศึกษา  

     การดำเนินการครั้งนี้ประสบผลสำเร็จหรือไม่ และอะไรเกิดขึ้นบ้างเมื่อสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ ?
ประชาชนจำนวน 1.4 ล้านคน ได้เข้าร่วมเดินประท้วง Bharat Yatra   มากมายเป็นประวัติการณ์  เมื่อหัวข้อการประท้วงได้แก่ ข้อห้ามเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศเด็ก  ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน เยาวชน ที่ อยู่ในฝูงชนลุกได้ขึ้นยืน หรือขึ้นมาบนเวที และนับเป็นครั้งแรกที่กล้าพูดว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง เด็กๆ อาจได้รับสิทธิที่จะได้รับการศึกษา แต่ขณะนี้ พวกเขาต้องได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิของพวกเขาด้วย พวกเรากำลังผลักดันให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย วิทยาลัยทั่วประเทศอินเดีย มีความปลอดภัย (Safe Schools) สิ่งสำคัญได้แก่  ความปลอดภัยจากการล่วงละเมิดทางเพศ พวกเรากำลังศึกษาเกี่ยวกับการประเมินการผลการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม และการสร้างองค์ความรู้ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการเดินประท้วง Bharat Yatra ซึ่งอาจมีการเผยแพร่ในประเทศต่างๆ พวกเราได้รับการร้องขอจากประเทศต่างๆ ให้ดำเนินโครงการเพื่อสร้างความปลอดภัยในโรงเรียนของพวกเขาเหล่านั้นด้วย

     ในขณะที่มีการเดิน Bharat Yatra คุณบอกให้นักการเมืองกลับไปยังโรงเรียนของพวกเขา คุณหมายถึงอะไร?
พวกเขาได้ให้คำมั่นว่าจะกลับไปเยี่ยมโรงเรียนที่เขาเคยเรียน และผมก็ได้บอกพวกเขาว่า พวกเขาควรไปอย่างยิ่ง ไม่ใช่ในฐานะเป็นแขกพิเศษ แต่ให้กลับไปในฐานะพ่อและแม่ที่เป็นคนธรรมดา และพยายามที่จะเรียนรู้มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยเท่านั้น แต่เรื่องคุณภาพการศึกษา สภาพแวดล้อมของโรงเรียนโดยทั่วไป เรื่องของครู  โรงเรียนเป็นมิตรกับกับเด็กหรือไม่ ?  มีโครงการอาหารกลางวันหรือไม่ ?  การเข้าเรียนเป็นอย่างไร ?  บ่อยครั้งที่โรงเรียนตั้งอยู่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตัดขาดจากชุมชน พบปัญหาทุจริตในชนบท ครูขาดสอน และอัตราเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มสูงขึ้น การทำให้นักการเมืองไปเยี่ยมโรงเรียน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  ผมได้ขอให้ตำรวจหญิงไปเยี่ยมโรงเรียนบ่อยครั้งขึ้น  เพื่อรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน รัฐบาลได้บอกว่าจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติใหม่เกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งการค้าเด็ก รวมถึงโครงการณรงค์ทางการศึกษาเพื่อช่วยสร้างความตระหนักในเรื่องดังกล่าวด้วย
     คุณได้รับรางวัลโนเบลในปี 2014 ในการ ‘ต่อสู้กับการข่มเหงรังแกเด็กและเยาวชน รวมทั้งเพื่อสิทธิเด็กที่จะได้รับการศึกษา สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณหรือไม่ ?
ผมมักพูดติดตลกว่า ผมได้รับมอบเหรียญแห่งสันติภาพ ในขณะที่ความสงบของผมได้ถูกลิดรอนไป ผมได้รับคำเชิญประมาณ 40,000 แห่ง  ซึ่งผมอาจต้องมีอายุไปอีก 160 ปี กว่าที่จะไปร่วมงานได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ผมจะมีความสุขมากหากจะคิดกันว่าผมเป็นคนธรรมดาที่ได้รับรางวัลโนเบล การติดต่อโดยตรงกับคนธรรมดาเพิ่มความรู้สึกมั่นใจในสิ่งที่ผมอยากทำ  ผลที่เกิดขึ้นด้านลบก็คือ ผมไม่สามารถที่จะช่วยเหลือเรื่องแรงงานเด็กโดยส่วนตัวได้อีกต่อไปแล้ว  คนรู้จักผมดีแม้แต่ในพื้นที่ห่างไกล สิ่งเหล่านี้เป็นการแหวกหญ้าให้งูตื่น  พวกเด็กๆ มักจะถูกเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ทำเหมือง หรือโรงงานก่อนที่ผมจะไปถึงที่นั้น มีหลายครั้งที่ผมต้องหลบๆ ซ่อน และต้องย้อนกลับไปอีกสองหรือสามครั้งเพื่อจะได้พบแรงงานเด็กเหล่านั้น  สิ่งที่เกิดขึ้นในด้านบวกก็คือ ผมได้มีโอกาสพบปะกับหัวหน้าหน่วยงานในสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรี ประธานาธิปดี ซึ่งทำให้ผมได้มีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบาย

     คุณเดินทางมาไกลจากอาชีพของคุณในฐานะวิศวกรไฟฟ้า คุณได้พบสิ่งที่เหมาะสมกับทักษะในการทำงานของคุณหรือไม่?
การเล่าเรียนมาในเรื่องนี้ ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์ มันทำให้ผมรู้จักการคิดแบบโครงสร้าง สามารถวิเคราะห์  และใช้เหตุผล  ซึ่งช่วยให้การทำงานต่อต้านการค้าเด็กของผมเป็นเรื่องของสิทธิมากกว่าทำแบบการกุศลแบบที่เคยทำมา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีความง่ายขึ้นหากคุณมีความคุ้นเคยกับทฤษฎีด้านโครงสร้างนิยม

     มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตของพวกเด็กๆ ที่คุณพบได้พบเห็น ตั้งแต่ที่คุณได้กลายเป็นนักเคลื่อนไหว ?
ผมรู้ว่าเมื่อเราปลดปล่อยเด็กจากการตกเป็นทาส และการแต่งงานในวัยเด็ก จะมีแรงกระเพื่อมเกิดขึ้น การศึกษาสามารถเสริมสร้างพลัง ศักดิ์ศรีและอัตตลักษณ์ให้แก่คนกลุ่มน้อย หรือผู้ยากไร้ โดยเฉพาะพวกเด็กๆ และเด็กผู้หญิง เมื่อพวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิของเขา มีทักษะในการอ่านและเขียน ทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเองอย่างมาก

ผมพบเด็กผู้หญิงลุกขึ้นปฏิเสธที่จะแต่งงานโดยไม่ยินยอม เพราะว่าพวกเธอเหล่านี้รู้ถึงสิทธิที่พึงได้รับ และสามารถไปแจ้งความกับตำรวจ หรือแจ้งกับองค์กรพัฒนาเอกชน  เช่นเดียวกับที่เด็กชายหลายคนได้ถูกกับดักให้เข้าไปเป็นทาสแรงงาน เมื่อพวกเขาได้รับรู้เกี่ยวกับสิทธิของเขา เขาสามารถที่จะติดต่อกับคนที่สามารถช่วยได้

     คุณได้พบเด็กนับพัน พวกเขาได้สอนอะไรคุณบ้าง ?
สิ่งสำคัญคือการเก็บรักษาความเป็นเด็กในตัวเอง ผมเชื่อว่าการที่คนเป็นคนที่แท้จริง มีความเรียบง่าย และ ชัดเจนในชีวิต เป็นเพราะพวกเขาไม่ลืมความสำคัญของความเป็นเด็ก 
     อะไรที่ยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้คุณ ?
ความฝัน ผมสามารถเห็นมันในดวงตาของพวกเด็กๆ
นายไกรลาส สัตยาธิ (ชาวอินเดีย) ได้รับรางวัลโนเบลปี 2014 (ร่วมกับมาลาลา ยูซาฟไซ) จากการ “ต่อต้านการคุกคามเด็กและเยาวชน และต่อสู้เพื่อสิทธิของเด็กทางการศึกษา” สัตยาธิเป็นกลไกที่นำไปสู่การรับรอง อนุสัญญาฉบับที่ 182 ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก (Worst Forms of Child Labour) ค.ศ. 1999 ขององค์การแรงงานโลก เขายังเป็นประธานผู้ก่อตั้งโครงการรณรงค์เพื่อการศึกษาของโลก และเป็นผู้แทนจากภาคประชาสังคมในคณะทำงานระดับสูงการศึกษาเพื่อปวงชน สัตยาธิเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการเดินประท้วงแรงงานเด็กใน 103 ประเทศเมื่อปี 1998 การเดินประท้วงการล่อลวงเด็กในเอเชียใต้ในปี 2007 และการเดินประท้วง Bharat Yatra เพื่อยุติการละเมิดทางเพศ และการค้ามนุษย์ซึ่งสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2017 เขายังได้ดำเนินโครงการรณรงค์ 100 Million for 100 Million เพื่อช่วยเหลือเด็กให้รู้จักสิทธิของพวกเขาด้วย
 cou 01 18 try harder 03

 

 

ff67098be84f2d4a634a70c56aa00eea8

 



translated by : Mrs. Kanittha Hanirattisai