Loading color scheme

ความร่วมมือด้านการศึกษากับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย

egypt 22 3 2560

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เวลา 09.00 น.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) ได้อนุญาตให้ H.E.Mr. Hazem Elsayed Badawy Eltahry เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประจำประเทศไทย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือข้อราชการ
ในการนี้ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ฯ กล่าวถึงการที่นักเรียนไทยนิยมไปศึกษาต่อที่อียิปต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนไทยอยู่กว่า 4,000 คน แต่นักเรียนเหล่านี้มักประสบปัญหาเกี่ยวกับการเทียบวุฒิการศึกษา เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาของไทยกับอียิปต์ไม่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลอียิปต์ได้ให้การรับรองหลักสูตรของมาเลเซีย ดังนั้น หากนักเรียนไทยที่จบการศึกษาจากมาเลเซียจะไปศึกษาต่อที่อียิปต์ก็จะไม่ประสบปัญหาเรื่องการเทียบวุฒิ ซึ่งในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาไปในทิศทางเดียวกันแล้ว (ASEAN Curriculum Sourcebook) ส่วนข้อคิดเห็นของเอกอัครราชทูตฯ ในประเด็นดังกล่าว ฝ่ายไทยรับจะพิจารณาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในชั้นต้นนี้จะมอบหมายให้หน่วยงานจัดส่งข้อมูลหลักสูตรการศึกษาของไทยให้แก่สถานทูตฯ ต่อไป
เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ฯ ได้หยิบยกประเด็นแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์ภาษาอาหรับในประเทศไทย ซึ่งได้เคยมีการหยิบยกขึ้นหารือในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนาย Abbass Shouman รองผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลาม (Deputy Grand Imam Sheikh of Al Azhar) กับอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 โดยศูนย์แห่งนี้จะมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนภาษาอาหรับให้แก่บุคคลทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน แต่ต้องการนำความรู้ไปใช้ในการทำงาน หรือการดำเนินธุรกิจ การท่องเที่ยว หรือการรักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างจากศูนย์ภาษาอาหรับที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยในจังหวัดภาคใต้ของไทย ที่มุ่งเน้นความเข้มข้นทางวิชาการ และการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่จะไปศึกษาต่อในประเทศตะวันออกกลางมากกว่า สำหรับศูนย์ภาษาอาหรับที่จะจัดตั้งขึ้นมาครั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องการให้ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพราะจะดูแลได้อย่างสะดวก และในโอกาสต่อไปก็อาจขยายสาขาไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เคยไปเยี่ยมชมการสอนภาษาอาหรับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการจัดทำความตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านภาษาอาหรับแล้ว จึงยินดีที่จะดำเนินการสานต่อความร่วมมือกันต่อไป รวมทั้งการสนับสนุนครูและผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับที่จะนำเรื่องนี้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

egypt1 22 3 2560

*****************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
23 มีนาคม 2560