Loading color scheme

รมว.ศธ. ชื่นชม “ซีหูโมเดล” ตัวอย่างเด่นด้านการศึกษาเพื่อการฟื้นฟูชนบทของจีน

ซีหูโมเดล7 21 4 2568

          เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางเยือนเขตซีหู เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อศึกษาดูงานด้านการจัดการศึกษาในชุมชน
โดยมี ศาสตราจารย์ฉี ซินเจี้ยน ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนานาชาติเพื่อการศึกษาในชนบทขององค์การยูเนสโก (UNESCO INRULED) ให้การต้อนรับ ร่วมกับนายลู่ เจี๋ย รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเขตซีหู และนายหลัว เจิ้น รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ตำบลซวงผู่

ซีหูโมเดล2 21 4 2568

          การลงพื้นที่ครั้งนี้มุ่งเน้นการศึกษานวัตกรรมการเรียนรู้ในระดับชุมชนที่ส่งเสริมการพัฒนาชนบทอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบ “การศึกษาเสริมพลัง – วัฒนธรรมสร้างจิตวิญญาณ – การฟื้นฟูชนบท”

          โรงเรียนชุมชนกับบทบาทใหม่ในการพัฒนาชนบท
          เขตซีหูได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เป็นตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของศูนย์การเรียนรู้ระดับอำเภอ ขณะเดียวกัน หมู่บ้านซั่งซือจูหม่ายังได้รับการยกย่องจากสถาบันเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UIL) ว่าเป็นกรณีศึกษาที่โดดเด่นด้านการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัย โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบระดับสากลในการขับเคลื่อน “หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้” อย่างยั่งยืน หนึ่งในจุดเด่นสำคัญคือ โรงเรียนชุมชนตำบลซวงผู่ ที่พัฒนารูปแบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมศักยภาพของชุมชน และสนับสนุนการพัฒนาชนบทในมิติต่างๆ โดยในปี 2566 โรงเรียนแห่งนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (CLC) ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์ UNESCO INRULED

ซีหูโมเดล3 21 4 2568

          รมว.ศธ.ไทยให้ความสนใจ 3 จุดเด่นจากพื้นที่

1. นวัตกรรมการศึกษาขับเคลื่อนการพัฒนาชนบท
          โรงเรียนชุมชนตำบลซวงผู่มีหลักสูตรที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย ทั้งการศึกษาผู้สูงอายุ การฝึกอาชีพสำหรับชาวบ้านกว่า 2,000 คนต่อปี และเวิร์กช็อปด้านมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น รมว.ศธ. แสดงความประทับใจต่อการบูรณาการหลักสูตรที่ตอบโจทย์ชุมชนอย่างแท้จริง และเห็นว่าเป็นแนวทางที่สามารถปรับใช้ในบริบทของไทยได้ โดยเฉพาะในการผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2. หมู่บ้านดิจิทัลกับแนวคิด “ความมั่งคั่งร่วมกัน”
          ที่ศาลาวัฒนธรรมหมู่บ้านเซี่ยหยาง คณะศึกษาดูงานได้เห็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อจัดการข้อมูลชุมชนแบบเรียลไทม์ ผสานกับกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรม เช่น การจัดดอกไม้แบบโบราณ รมว.ศธ. ได้กล่าว
ยกย่องว่า “นี่คือซิมโฟนีที่สมบูรณ์แบบระหว่างความดั้งเดิมกับความทันสมัย” พร้อมชื่นชมว่าประสบการณ์ของซวงผู่พิสูจน์ได้ว่าเทคโนโลยีไม่ทำลายวัฒนธรรม หากแต่ช่วยฟื้นฟูให้ทันยุคสมัย

3. วัฒนธรรมชากับการต่อยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ
          คณะศึกษาดูงานได้เยี่ยมชมฐานการผลิตชา “จิ่วฉวี่หงเหมย” ซึ่งมีบทบาทในเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยมีการสาธิตการชงชาโดยครูลั่ว หลงเซียว ผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้แสดงความสนใจในการพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษาไทย-จีน ผ่านโครงการ “หลักสูตรวัฒนธรรมชาและการท่องเที่ยวข้ามประเทศ” ภายใต้โครงการ Belt and Road โดยหวังว่าชาจะกลายเป็นสะพานแห่งมิตรภาพใหม่ของประชาชนทั้งสองประเทศ

ซีหูโมเดล4 21 4 2568

"ซีหูโมเดล": รูปธรรมของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

          ในโอกาสนี้ รมว.ศธ. ได้กล่าวชื่นชมว่า แนวทางของเขตซีหูเป็นตัวอย่างของการใช้ “การศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน” โดยเฉพาะการผสานการฝึกทักษะ สืบสานวัฒนธรรม และบริหารจัดการชุมชนเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน พร้อมระบุว่าเป็นแนวทางที่ควรศึกษาและต่อยอดสู่บริบทของไทย

          ผู้เชี่ยวชาญร่วมคณะให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จุดแข็งของโรงเรียนชุมชนซวงผู่ คือการ “ปลุกพลังภายในของหมู่บ้านผ่านการศึกษา” โดยเฉพาะแนวทางที่ลงสู่พื้นที่จริงและเกิดผลในระยะยาว ซึ่งถือเป็นทิศทางใหม่ในการปรับตัวของชนบทท่ามกลางบริบทโลกาภิวัตน์

ซีหูโมเดล5 21 4 2568

          ในอนาคต วิทยาลัยชุมชนเขตซีหูมีแผนผลักดันนวัตกรรมด้านการศึกษาสู่เวทีสากล และยินดีแบ่งปันแนวปฏิบัติร่วมกับประเทศที่อยู่ในเส้นทาง Belt and Road เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน

 ซีหูโมเดล6 21 4 2568

แหล่งข่าว: วิทยาลัยชุมชนเขตซีหู
สรุป/เรียบเรียง: พนิดา ทวีลาภ
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
21 เมษายน 2568