Loading color scheme

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวย้ำความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาการศึกษา มุ่งเน้นการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลาของเด็กและเยาวชน

Hits: 1188

13ased เช้า 26 8 2567

          วันที่ 26 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมบอลรูม สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไทย ได้เป็นประธานร่วมกับ H.E. Mr. Yano Kazuhiko รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนระดับรัฐมนตรี จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย รวมทั้งผู้แทนจากประเทศคู่เจรจาในกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ตลอดจนติมอร์-เลสเต ในฐานะผู้สังเกตการณ์ สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network - AUN) สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ (SEAMEO Secretariat) และหน่วยงานเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซียน รวมประมาณกว่า 110 คน

13ased เช้า1 26 8 2567

          ในช่วงพิธีเปิดการประชุมฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม และให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการศึกษายุคดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) จะเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่แข็งแกร่ง และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากร ความรู้ และประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา ซึ่งการพลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัลจะนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา และการสร้างสรรค์ ทั้งนี้ เยาวชนต้องสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

13ased เช้า2 26 8 2567

          จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14 พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือด้านการศึกษาในกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสามในอนาคต ประเทศไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับ “การพลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงและสร้างนวัตกรรมในระบบการศึกษาของอาเซียน ระบบการศึกษาในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และสามารถเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 หนึ่งในประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือการลดช่องว่างทางดิจิทัลที่มีอยู่ทั้งภายในและระหว่างประเทศ การเข้าถึงเทคโนโลยีและทักษะความรู้ดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เรียนในยุคดิจิทัล ความร่วมมือของอาเซียนบวกสามมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโครงการด้านการศึกษา รวมถึงส่งเสริมนวัตกรรมและการจัดการกับความท้าทายร่วมกัน นอกจากนี้ อาเซียนยังยึดมั่นในวิสัยทัศน์ร่วมกันของการพลิกโฉมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเทคโนโลยีดิจิทัลนับเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยสร้างระบบการศึกษาที่มีความเท่าเทียมและครอบคลุมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนและมีส่วนร่วมในการเจริญเติบโตของภูมิภาค

13ased เช้า3 26 8 2567

          ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาความคืบหน้าของการจัดทำแนวทางร่วมอาเซียนบวกสามสำหรับการเคลื่อนย้ายนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อใช้เป็นกรอบพื้นฐานสำหรับการแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายของนักเรียนที่รับประกันคุณภาพและความเท่าเทียม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการรับประกันคุณภาพและความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมแบบดั้งเดิมหรือออนไลน์ รวมทั้งโปรแกรมแบบผสมผสาน หรือ Hybrid โดยขอบเขตของสาขาที่เปิดให้ศึกษาประกอบด้วย การศึกษา มนุษยศาสตร์และศิลปะ สาธารณสุขและสวัสดิการ สังคมศาสตร์ ธุรกิจและกฎหมาย บริการ วิศวกรรม การผลิต และการก่อสร้าง วิทยาศาสตร์ชีวิต วิทยาศาสตร์กายภาพ คณิตศาสตร์และสถิติ การคอมพิวเตอร์ เกษตรศาสตร์ และอื่น ๆ

13ased เช้า4 26 8 2567

           ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาและให้การรับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7 ซึ่งให้ความสำคัญกับศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา และการมีส่วนร่วมในกลุ่มประชากรชายขอบ การพัฒนาการเรียนการสอนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ข้อมูล ทางการศึกษาเพื่อการวางแผนและกำหนดนโยบายภายใต้แนวคิด “พลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล ความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนบวกสาม สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ปี พ.ศ. 2561 - 2567 และแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน ปี พ.ศ. 2564 - 2568

13ased เช้า5 26 8 2567

          ในช่วงท้ายของการประชุมฯ ประธานได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการศึกษาและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาดูแลนักเรียนและนักศึกษาให้มีคุณภาพเท่าเทียมและเสมอภาคเพื่อให้เยาวชนได้ “เรียนดี มีความสุข” รวมถึงสร้างความเข้มแข็งและความเจริญก้าวหน้าเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับเยาวชนในภูมิภาคอาเซียนบวกสามต่อไป

สรุปและเรียบเรียง : คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
26 สิงหาคม 2567