Loading color scheme

กระทรวงศึกษาธิการพร้อมให้ความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมกับเยอรมนี

N germany 28 9 2566

          นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับและร่วมหารือกับผู้แทนกระทรวงการศึกษาและวิจัย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้แทนกระทรวงการศึกษาและวิจัย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นำโดย Ms. Antje Wessels ตำแหน่ง DLR Project Management Agency และคณะ ประกอบด้วย Ms. Birgit Thomann ตำแหน่ง Head of Department จาก Federal Institute for Vocational Education and Training (BIBB) Ms. Katharina Engel ตำแหน่ง Project Manager และ Mr. Thorsten Clausing ที่ปรึกษาจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมหารือกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงศึกษาและวิจัย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รวมทั้งแนวทางดำเนินความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในระยะต่อไป

germany1 28 9 2566

          แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการศึกษาและวิจัย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (Joint Declaration of Intent Between Ministry of Education of the Kingdom of Thailand and the Federal Ministry of Education and Research of the Federal Republic of Germany) ลงนามเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 (ค.ศ. 2015) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน (แถลงการณ์ ฯ ดังกล่าว มีอายุ 3 ปี และสิ้นสุดเมื่อปี 2561 (ค.ศ. 2018) ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา การฝึกอบรม และการวิจัยอย่างต่อเนื่องในหลายด้าน และเคยมีการเจรจาเพื่อปรับและต่ออายุความร่วมมือภายใต้แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว แต่เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการศึกษาของฝ่ายเยอรมนี จึงทำให้การต่ออายุแถลงการณ์ฯ ชะลอการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ผู้แทนกระทรวงการศึกษาและวิจัย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้หารือร่วมกับหน่วยงานภายใต้โครงการที่เกี่ยวข้องแล้ว หลายหน่วยงานสนับสนุนให้มีการดำเนินความร่วมมือภายใต้แถลงการณ์ฯ ต่อไป

germany3 28 9 2566

          ในส่วนของไทยนั้นมีความตั้งใจที่จะดำเนินความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมร่วมกับกระทรวงการศึกษาและวิจัย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเห็นประโยชน์ของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ประกอบกับความท้าทายด้านอาชีวศึกษาต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาครูและนักเรียนให้มีทักษะตามมาตรฐานของเยอรมนี การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักเรียนในสาขาต่างๆ เช่น ด้านการโรงแรม อาหารและโภชนาการ วิศวกรรมเครื่องกล และช่างโลหะ เป็นต้น ที่ผ่านมา นักเรียนในระดับอาชีวศึกษาของไทยประสบความสำเร็จในโครงการด้านฝึกทักษะซึ่งมีความร่วมมือกับบริษัทของเยอรมนีที่มีชื่อเสียง และได้รับการประเมินผ่านมาตรฐานในระดับ 5 จึงประสงค์ให้ฝ่ายเยอรมนีให้การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมต่อไป

germany2 28 9 2566

          ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้ฝ่ายไทยและกระทรวงการศึกษาและวิจัย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดการประชุมหารือร่วมกันเพื่อนำเสนอ รายงานสรุปผลโครงการความร่วมมือภายใต้แถลงการณ์ฯ ที่ผ่านมา รวมถึงระดมความคิดเห็นและความต้องการการสนับสนุนและความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมของทั้งสองฝ่าย หัวข้อ ประเด็น และความท้าทายต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำร่างแถลงการณ์ฯ สำหรับลงนามตามกระบวนการขั้นตอนต่อไป

สรุป/เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
28 กันยายน 2566