Loading color scheme

ปลัด ศธ. พบหารือรองผู้อำนวยศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจากประเทศจีนยืนยันเดินหน้ากระชับความร่วมมือ

CLEC1 23 3 2566

          เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ดร. อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้พบหารือกับนายหู จื้อผิง (Mr. Hu Zhiping) รองผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Center for Language Education and Cooperation - CLEC) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากศูนย์ CLEC เดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านการศึกษาของไทยและจีน โดยมีนางสาวสุปราณี คำยวง รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วมการหารือ

CLEC2 23 3 2566

          ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวต้อนรับคณะผู้แทนจากศูนย์ CLEC ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งแรกภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายได้พบปะและประชุมหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายหลังการลงนามกรอบความร่วมมือระหว่างไทยและจีนด้านการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนเมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ ได้กล่าวขอบคุณศูนย์ CLEC ที่ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนให้แก่ประเทศไทยมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการครูอาสาสมัครจีนที่ฝ่ายจีนได้จัดส่งครูจีนเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นจำนวนมากถึงปีละกว่าหนึ่งพันคนเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาทักษะการเรียนการสอนภาษาจีนให้แก่นักเรียนและครูไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายจีนเพื่อพัฒนากิจกรรมและโครงการต่างๆ ในด้านภาษาจีนเพื่อการเรียนการสอน และการต่อยอดใช้ความรู้และทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวแสดงความยินดีสำหรับความสำเร็จในพิธีเปิดป้ายสถาบันภาษาจีนและการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาด้านอาชีวศึกษาแห่งแรกที่ฝ่ายจีนให้ความร่วมมือจัดตั้งขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาการศึกษาด้านอาชีวะของไทยกับจีนให้มีความก้าวหน้าและเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

CLEC4 23 3 2566

          รองผู้อำนวยการศูนย์ CLEC กล่าวขอบคุณปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ให้คณะผู้แทนจากศูนย์ CLEC เข้าพบหารือก่อนการเดินทางกลับสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงบ่ายของวันนี้ อีกทั้งยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดป้ายสถาบันภาษาจีนตามคำเชิญของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหารของฝ่ายไทยรวมถึงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย โดยการจัดตั้งสถาบันภาษาจีนในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาอย่างเป็นทางการของจีนและไทยเพื่อขยายการพัฒนาระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาของไทยและจากมณฑลต่างๆ ของจีนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์ CLEC พร้อมให้การสนับสนุนในการดำเนินงานทั้งด้านการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนและทักษะอาชีวศึกษาให้แก่ประเทศไทยอย่างเต็มที่ และขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ให้ความร่วมมือที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากฝ่ายไทยประสงค์จะพัฒนาความร่วมมือในด้านอื่นๆ อาทิ การพัฒนาครูหรือการจัดทำหลักสูตร ฝ่ายจีนยินดีร่วมดำเนินการและหารือในรายละเอียดให้เกิดโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมต่อไป

สรุป/เรียบเรียง : กนกวรรณ แกว่นถิ่นภู
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มงานความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
23 มีนาคม 2566