Loading color scheme

รองประธานกรรมการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น ประเทศญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

Japan Foundation 27 1 2566

          เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 เวลา 14.00 น. นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้แทนพบหารือกับ Dr. SATO Yuri รองประธานกรรมการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น ประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องดำรงราชานุภาพ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคณะเจ้าหน้าที่จากเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย รวมทั้งนางสาวสุปราณี คำยวง รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนางสาวนองศิริ โชติรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาและผู้อำนวยการสถาบันการแปลและส่งเสริมภาษาต่างประเทศที่สอง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมการพบหารือดังกล่าวด้วย 

Japan Foundation1 27 1 2566

          ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับ Dr. SATO Yuri พร้อมคณะที่ได้เดินทางมากระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ พร้อมทั้งแจ้งว่าได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นผู้แทนเพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้เป็นภาษาต่างประเทศที่สองในโรงเรียนมัธยมศึกษาของไทย โดยการพบกันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมหารือกันเพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Japan Foundation2 27 1 2566

          รองประธานกรรมการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่น กล่าวขอบคุณปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้อนุญาตให้เข้าพบหารือ และได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียในครั้งนี้ เนื่องจากในปี 2566 เป็นวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ได้มีโอกาสพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อร่วมกันทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมา รวมทั้งการริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ และเจแปนฟาวน์เดชั่นได้รับการสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือที่ดียิ่งจากกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด โดยเฉพาะโครงการผู้ช่วยสอนภาษาญี่ปุ่น หรือนิฮงโกะ พาร์ทเนอร์ ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2566 ฝ่ายญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะส่งผู้ช่วยสอนภาษาญี่ปุ่นมาปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ถึงจำนวนรวมทั้งหมด 3,000 คน สำหรับประเทศไทยได้จัดส่งมาปฏิบัติหน้าที่แล้วจำนวนกว่า 400 คน โดยในรุ่นปัจจุบันมีจำนวน 48 คน ซึ่งมีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะปลัดกระทรวงศึกษาธิการเนื่องในโอกาสเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ก่อนเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 โครงการนิฮงโกะ พาร์ทเนอร์ จะครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ภายใต้กรอบการดำเนินการ ที่มีผลผูกพันกับงบประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่น ดังนั้น เจแปนฟาวน์เดชั่น จึงขอรับเสียงสนับสนุนและข้อคิดเห็นจากกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เพื่อจะได้นำไปรายงานต่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการในปีต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่ได้คัดเลือกให้เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาด้วย

Japan Foundation3 27 1 2566

Japan Foundation4 27 1 2566

          ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวขอบคุณเจแปนฟาวน์เดชั่นสำหรับการดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านการศึกษาที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ โดยการดำเนินการจัดส่งอาสาสมัครมาช่วยสอนภาษาญี่ปุ่นในโรงเรียนมัธยมศึกษาของประเทศไทยถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะการเรียนการสอนของครูและนักเรียนไทย กระทรวงศึกษาธิการยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการในปีต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากเจแปนฟาวน์เดชั่นจะพิจารณาขยายกลุ่มผู้เรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาให้ครอบคลุมไปถึงสถาบันอาชีวศึกษาก็จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น โดยภายหลังการหารือในครั้งนี้จะได้นำเรียนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะรัฐมนตรีทราบถึงความสำคัญของโครงการนิฮงโกะ พาร์ทเนอร์ ต่อไป

Japan Foundation5 27 1 2566

ข้อมูล : กนกวรรณ แกว่นถิ่นภู
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มงานความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
27 มกราคม 2566