Loading color scheme

ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

การเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของ Mr. Luc Stevens
ผู้ประสานงานสหประชาชาติ และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย

ในวันอังคารที่ 22 มกราคม 2556 เวลา 16.00 น.
ณ ห้องรับรองจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ
กระทรวงศึกษาธิการ

World-Bank-001

กระทรวงศึกษาธิการยินดีให้ความร่วมมือด้านการศึกษากับหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับสหประชาชาติ (UN Partnership Framework – UNPAF) (พ.ศ.2555  2559) โดย Mr. Luc Stevens ได้ย้ำเจตนารมณ์ที่จะดำเนินความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้ประสานงานสหประชาชาติ และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ในประเด็นต่อไปนี้

     1.1 ความร่วมมือด้านการศึกษากับองค์กรภายใต้สหประชาชาติ โดยคำนึงถึงข้อริเริ่มต่างๆ ของสหประชาชาติ และนโยบายการศึกษาตามลำดับความสำคัญของประเทศไทย

1.2 ความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการยกระดับและพัฒนาประเทศไทยด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และความชำนาญการต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การปลูกจิตสำนึกในหมู่เยาวชนในการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง

1.3 ความร่วมมือในการสำรวจและสร้างเครือข่ายเยาวชนทั้งในระดับการศึกษา
ขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาเพื่อปลูกจิตสำนึกในการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง ตามที่ยูเอ็นดีพีได้เคยร่วมมือกับเครือข่ายเยาวชนไทยต่อต้านคอรัปชั่นในการจัดกิจกรรมค่ายนักศึกษามหาวิทยาลัย เมื่อเดือนธันวาคม 2555 โดยมีนักศึกษากว่า 1
,500 คน เข้าร่วมโครงการ 

 

นอกจากนี้ Mr. Luc Stevens ยังได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกับประเทศไทยและกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้กรอบ UNPAF ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อต้านคอรัปชั่น ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย การป้องกันโรคเอดส์ ฯลฯ เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวขอบคุณ Mr. Luc Stevens ในฐานะผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทยที่ได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาด้านการศึกษาและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

2.1 กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนของชาติให้เป็นคนดี ดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม เคารพในหลักการประชาธิปไตย ไม่เน้นแค่การสอนในชั้นเรียน และใช้เพียงหลักการประชาสัมพันธ์ ซึ่งสิ่งดังกล่าวจะต้องใช้กลไกการศึกษาที่เป็นระบบและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและปลูกฝังทัศนคติในการเป็นคนดี และกระทำความดี

2.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ด้วยการปฏิรูปหลักสูตรการสอน โดยเน้นให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดเป็น และนำไปสู่การปฏิบัติจริงมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพครูเพื่อให้ครูสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนด้วยวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ

2.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งต้องใช้ยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาด้วยความเข้าใจปัญหา และดำเนินการอย่างสอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้าน ทั้งในด้านวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันเยาวชนในจังหวัดดังกล่าว ยังมีพื้นฐานความรู้ภาษาไทยน้อยกว่าภาษาท้องถิ่น จึงมีการสนับสนุนให้ครูผู้สอนสามารถสื่อสารภาษายาวีกับนักเรียนได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

----------------------------------------------------------------

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธการ
23 มกราคม 2556