Loading color scheme

ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้การศึกษาทั่วโลกหยุดชะงัก

COVID 19 19 3 2563

          เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 แหล่งข่าวจากองค์การยูเนสโก ได้มีการรายงานว่า มีจำนวนเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ กว่า 119 ประเทศได้ประกาศปิดสถานศึกษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปทั่วโลก

          จากการประเมินผลขององค์การยูเนสโกพบว่า 107 ประเทศ มีการปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ ทำให้ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนจำนวน 861.7 ล้านคน ในขณะที่อีก 12 ประเทศมีการปิดเพียงในบางพื้นที่ และอาจจะมีการปิดไปทั่วประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนนับล้านคนพบกับภาวะการหยุดชะงักทางการศึกษา

          ทั้งนี้ การปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีการขยายวงกว้างและรวดเร็วขึ้น จึงนับเป็นความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับภาคการศึกษา หลายประเทศทั่วโลกกำลังแข่งกันเติมช่องว่างนี้ด้วยโซลูชั่นการเรียนทางไกล แต่ระยะเวลาที่ไม่แน่นอนของการปิดโรงเรียนก็เพิ่มความยุ่งยากให้แก่หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิธีการแบบใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การสอนแบบเรียลไทม์ (Real-time video class) ไปจนถึงการสอนแบบการใช้เทคโนโลยีเพียงระดับล่าง อย่างการสอนทางวิทยุและโทรทัศน์ ดังนั้นทางองค์การยูเนสโกจึงได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทั้งการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและข้อเสนอแนะในด้านการจัดการศึกษา ซึ่งองค์การยูเนสโกจะยังคงมีการจัดการประชุมแบบเสมือนจริงกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการจากทั่วโลกเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประเมินความต้องการตามลำดับความสำคัญของแต่ละประเทศ นอกจากนี้องค์การยูเนสโกยังได้เปิดตัว Global COVID-19 Education Coalition เพื่อช่วยสนับสนุนรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอน โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ Microsoft and the Global System for Mobile Communication (GSMA) ในการช่วยเหลือในการเรียนรู้และการเรียนการสอนทางไกล และคงการติดต่อกับผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ

          นาง Audrey Azoulay ได้กล่าวว่า “เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้มีความท้าทายอย่างมากสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่จะสามารถทำให้การเกิดเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งทางยูเนสโกกำลังเร่งสร้างพันธมิตรเพื่อให้มีการตอบสนองความต้องการของประเทศต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ความพยายามนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะการขยายขนาดการเรียนทางไกล และการสร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น เปิดกว้างและมีนวัตกรรมมากขึ้น”

          ในขณะที่ Stefania Giannini ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกด้านการศึกษา ได้กล่าวว่า “ความยากลำบากจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณเมื่อการปิดโรงเรียนยืดเยื้อ ถึงแม้ว่า โรงเรียนหลายแห่งจะไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบ แต่โรงเรียนก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งหากโรงเรียนปิดก็จะยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น”

          อย่างไรก็ตามองค์การยูเนสโกจะมีการจัดการประชุมผ่านอินเตอร์เน็ต ในรูปแบบของเว็บใน ลักษณะเสมือนจริง (Virtual) เพื่อให้ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสแบ่งปันข้อมูลและแนวทางต่างๆ ที่ดำเนินการแล้วประสบความสำเร็จ ด้วยบริบทที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งแนวคิดนี้เป็นผลมาจากความสำเร็จในการประชุมผ่าน videoconference เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ร่วมกับ 73 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย

          ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนส่งผลไปไกลกว่าเรื่องการศึกษา ซึ่งยูเนสโกได้จัดทำรายการของผลกระทบต่างๆ เพื่อช่วยประเทศสมาชิกในการประเมินสถานการณ์และบรรเทาปัญหาต่างๆ ดังนี้

• การเรียนรู้ถูกขัดจังหวะ: การสูญเสียโอกาสเกิดจากการขาดโอกาสของผู้เรียนที่ไม่มีความสมดุลอยู่แล้ว ซึ่งโดยปกติคนเหล่านี้จะมีความพยายามที่จะแสวงหาโอกาสทางการศึกษาอันน้อยนิดที่อยู่ภายนอกโรงเรียน
• อาหารการกิน : เด็กและเยาวชนจำนวนมากพึ่งพาอาหารโรงเรียนฟรี และราคาถูก เพื่อภาวะโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นเมื่อมีการปิดโรงเรียนเด็กๆ ก็ไม่ได้รับโอกาสเหล่านี้
• ความคุ้มครอง : โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ให้ความปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนจำนวนมาก เมื่อปิดโรงเรียนคนหนุ่มสาวจะมีความเสี่ยงและเปราะบางมากขึ้น
• ผู้ปกครองไม่ได้เตรียมตัวสำหรับการศึกษาทางไกลที่บ้าน: เมื่อปิดโรงเรียน ผู้ปกครองจะมีการถามถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ที่บ้าน และหาทางเพื่อแก้ไข ซึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ปกครองที่มีทรัพยากรและการศึกษาที่จำกัด
• การเข้าถึงพอร์ทัลการเรียนรู้ระบบดิจิทัลที่ไม่เท่ากัน: การขาดการเข้าถึงระบบเทคโนโลยี และการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ดี จะทำให้การเรียนรู้ติดขัดไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่ขาดแคลน
• ช่องว่างในการดูแลเด็ก: ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่น พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะปล่อยเด็กให้อยู่ตามลำพัง หากโรงเรียนปิดการเรียนการสอนจะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งจากแรงกดดันจากเพื่อนที่เพิ่มขึ้นและการใช้สารเสพติด
• ต้นทุนทางเศรษฐกิจสูง : พ่อแม่มีแนวโน้มขาดงานมากขึ้นเพื่อมาดูแลลูก ทำให้ขาดรายได้ ในขณะที่ภาคการผลิตก็ลดลง
• แรงกดดันต่อโรงเรียน และระบบโรงเรียนที่ยังเปิดอยู่เพิ่มขึ้น: การปิดโรงเรียนในบางพื้นที่ทำให้มีการเพิ่มภาระให้แก่โรงเรียนที่ยังเปิดอยู่ เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กไปเรียนในโรงเรียนที่ยังคงเปิด
• อัตราการออกกลางคันเพิ่มขึ้น : มันเป็นความท้าทายเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กและเยาวชนกลับมาและอยู่ในโรงเรียนเมื่อโรงเรียนเปิดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปิดยืดเยื้อ
• ความโดดเดี่ยวทางสังคม: โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม เมื่อปิดโรงเรียนเด็กและเยาวชนจำนวนมากจะพลาดการติดต่อทางสังคมที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และพัฒนา

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: https://en.unesco.org/themes/education-emergencies/coronavirus-school-closures

*****************************************

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: https://en.unesco.org/
สรุปและเรียบเรียงโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ สต.สป.ศธ.
19 มีนาคม 2563