Loading color scheme

ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกเรื่องการจัดการศึกษาในภาวะโรคโควิด 19

        

col webinars

 

องค์การยูเนสโกได้ตั้ง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (Community of Practice)” เพื่อเป็นช่องทางให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด 19 ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ โดยมีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ เป็นผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศสมาชิก

          โดยที่ผ่านมาองค์การยูเนสโกได้จัดการสัมมนาออนไลน์ (webinars) เรื่องการจัดการศึกษาในภาวะโรคโควิด 19 จำนวน 4 ครั้ง (ระหว่าง 20 มีนาคม – 9 เมษายน 2563) ผ่านช่องทาง Window Teams โดยมีหัวข้อและสาระสำคัญ ดังนี้

          1. Ensuring Equity in Remote Learning Responses to School Closures หารือถึงการจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความเสมอภาคในช่วงภาวะวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 โดยได้นำเสนอแนวทางที่น่าสนใจ อาทิ การบูรณาการการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development) ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ชุมชนให้การสนับสนุนการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาทางไกลและการเรียนแบบออนไลน์ เนื่องจากการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนจะมีส่วนสนับสนุนให้การเรียนทางไกลประสบความสำเร็จ

          2.Supporting Teachers to Maintain Continuity of Learning During School Closures ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครูผู้สอนให้สามารถจัดการเรียนการสอนทางไกลได้ในช่วงที่โรงเรียนไม่เปิดสอน โดยที่ประชุมได้อภิปรายถึงความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล อาทิ การดึงดูดให้ผู้เรียนให้ความสนใจกับบทเรียนเนื้อหา การเข้าถึงการเรียนการสอนของผู้ที่อยู่ห่างไกล และความพร้อมของครูผู้สอนในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนทางไกล ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพในปัจจุบัน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องว่าการให้การสนับสนุนทางด้านเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน และสภาพความเป็นอยู่แก่ครูผู้สอนเป็นเรื่องที่สำคัญในภาวะวิกฤติ (อาทิ การจ่ายเงินเดือนตรงเวลา การไม่ตัดเงินสนับสนุนการทำงานนอกเวลา เป็นต้น) โดยการดำเนินการดังกล่าวจะสนับสนุนให้มั่นใจได้ว่าครูมีความพร้อมและสามารถส่งผ่านองค์ความรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          3. Addressing the gender dimensions of COVID-related school closures กล่าวถึงผลกระทบต่อการจัดการศึกษาในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในประเด็นเรื่องของความเสมอภาคทางเพศ โดยในปัจจุบันพบว่าผู้เรียนกว่าร้อยละ 89 นั้นไม่ได้รับการศึกษาอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัส ซึ่งในจำนวนนั้น มีเด็กผู้หญิงอยู่กว่า 743 คนทั่วโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอเพื่อจัดการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม อาทิ การยกระดับความตระหนักของครูและชุมชนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาอย่างเสมอภาคและความสำคัญกับการศึกษาของเด็กหญิง การจัดส่งแบบฝึกอ่าน – เขียนให้กับผู้เรียน การใช้โทรทัศน์หรือวิทยุในการจัดรายการการศึกษา การพัฒนาโครงข่ายสารสนเทศ และการฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการเรียนรู้ให้กับเด็กหญิง การให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายอาหารหรือการให้การสนับสนุนที่จำเป็นในภาวะโรคระบาด การให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนานโยบายและการจัดการเรียนการสอนในภาวะวิกฤติ ตลอดจน การสร้างความมั่นใจว่าผู้เรียนจะสามารถกลับเข้ารับการศึกษาได้ในภายหลังจากภาวการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายผ่านยุทธศาสตร์การศึกษาที่มีความยืดหยุ่น เป็นต้น 

          4. Managing high-stakes exams and assessments during the Covid-19 pandemic อภิปรายถึงผลกระทบของการจัดการทดสอบในระดับต่าง ๆ ความกังวลของผู้ปกครองและผู้เรียนต่ออนาคตทางการศึกษา โดยในทางปฏิบัติ ประเทศส่วนใหญ่ได้เลื่อนการจัดการทดสอบระดับชาติออกไป หรือหากมีการจัดการทดสอบได้ดำเนินการโดยมีข้อระวังเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด 19 อาทิ การจัดที่นั่งสอบให้มีระยะห่างกัน การจำกัดผู้เข้าร่วมในการทดสอบ การวัดอุณหภูมิร่างกาย เป็นต้น ทั้งนี้ หลายประเทศให้ข้อคิดเห็นว่า ในปัจจุบัน แนวทางการจัดการทดสอบออนไลน์ยังไม่อาจเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาที่เกิดได้ เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล และความสามารถในการเข้าถึงการทดสอบแบบออนไลน์ของผู้เรียนที่ห่างไกล อย่างไรก็ตาม หลายประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาช่องทางการจัดการทดสอบในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการจัดการสอบในรูปแบบออนไลน์ โดยให้มั่นใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค และเท่าเทียม

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
https://en.unesco.org/covid19/educationresponse/webinars
------------------------------------

ข้อมูลโดย : กลุ่มองค์การระหว่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่: 15 เมษายน 2563