Loading color scheme

เปิดมุมมอง: มาตรการล็อคดาวน์ของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่ง ของวิสัยทัศน์ทางการศึกษาที่กว้างขึ้นได้อย่างไร

Bett interviewed MOE Online In School Learning 29 6 2563

"Bett Asia ได้สัมภาษณ์กระทรวงศึกษาธิการของไทยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานขั้นต่อไปของกระทรวงฯ ในการจัดการศึกษาแบบออนไลน์และแบบในโรงเรียน"

อนุชา บูรพชัยศรี กระทรวงศึกษาธิการ (ประเทศไทย)

           ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทั่วโลกต่างก็มีภารกิจในการรักษาประตูสู่การเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน รวมทั้งต้องดำเนินการเพื่อให้ครูผู้สอนสามารถทำการสอนต่อไปได้ด้วย แม้ว่าจะสามารถควบคุมเชื้อไวรัสได้ดีในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลไทยก็ตัดสินใจเลื่อนการเปิดโรงเรียนจากวันที่ 18 พฤษภาคมออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม การตัดสินใจดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลมีความกังวลในเรื่องการจัดสรรพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสำหรับให้นักเรียนมาเรียนได้ โดยเมื่อกลับไปที่บ้านแล้วจะไม่ไปแพร่กระจายเชื้อไวรัสสู่ญาติของตนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ

          ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนยังคงสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนได้ รัฐบาลไทยจึงได้ให้การสนับสนุนนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดการเรียนการสอนทางไกล กระทรวงศึกษาธิการได้สนับสนุนให้นักเรียนเข้าเรียนในชั้นเรียนเสมือนจริง หรือ Virtual Learning โดยได้จัดการศึกษาทางไกลผ่านช่องโทรทัศน์การศึกษา 17 ช่องที่ได้รับการออกแบบเฉพาะสำหรับใช้ในการเรียนการสอนแบบเสมือนจริง อีกทั้งยังสามารถรองรับระดับการเรียนรู้ ของนักเรียนได้ในทุกระดับจนถึงอายุ 18 ปี สำหรับเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์จะเป็นผู้จัดเตรียมเนื้อหาการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงระดับมัธยมต้น โรงเรียนชั้นนำในประเทศไทยต่างก็สนับสนุนแนวคิดริเริ่มนี้ด้วยการจัดเตรียมเนื้อหาการเรียนการสอนสำหรับระดับชั้นมัธยมปลาย นอกจากนี้ ยังได้ครูระดับแนวหน้ามาช่วยดำเนินการเรียนการสอนอีกด้วย

          กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแพลตฟอร์ม (โครงสร้างพื้นฐาน) สำหรับการเรียนรู้แบบเสมือนจริง ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนไทยร้อยละ 90 สามารถเข้าถึงเนื้อหาบทเรียนได้ เมื่อติดตั้งแพลตฟอร์มและเปิดระบบ ให้เข้าใช้ได้แล้ว นักเรียนและครูจะได้รับ ID เพื่อล็อคอินเข้าสู่ระบบ โดยจะสามารถเข้าดูได้เฉพาะเนื้อหาการเรียนการสอนในระดับชั้นของตนเองเท่านั้น นักเรียนจะสามารถดูเนื้อหาล่วงหน้าได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสในการเรียนเท่า ๆ กันและเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีนักเรียนคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนให้มากยิ่งขึ้น นักเรียนยังคงสามารถทบทวนบทเรียนที่เรียนไปแล้วซ้ำอีกได้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเข้าใจบทเรียนที่เรียนมาแล้วจริง ๆ

          ประเด็นหลักของการดำเนินกระบวนการข้างต้นก็เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนในช่วงที่มีการล็อคดาวน์โดยยังไม่มุ่งเน้นที่ผลการเรียนของนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการมากกว่าการรักษาผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและได้ดำเนินการเพื่อช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมการดูแลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบเสมือนจริง กระบวนการที่กล่าวมานี้อาจสร้างความยุ่งยากให้แก่หลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นระบบออนไลน์โดยกะทันหัน ครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่มีความคุ้นเคยในการใช้ระบบ EdTech จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของตนอย่างเร่งด่วน การตัดสินใจเปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้แบบเสมือนจริงในวันที่ 1 กรกฎาคมนั้นก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการอบรมครูให้มีทักษะความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้ระบบ EdTech ได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือไม่ก็ตาม การเรียนรู้ดิจิทัลก็เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับครู

          สำหรับนักเรียนแล้ว การใช้ชีวิตภายใต้มาตรการล็อคดาวน์เป็นเรื่องน่าวิตกกังวล กระทรวงศึกษาธิการจึงเป็นกำลังอีกแรงหนึ่งที่ช่วยให้นักเรียนทราบว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ผิดแปลกจากช่วงเวลาอื่นในประวัติศาสตร์สำหรับเราทุกคน และให้การสนับสนุนนักเรียนได้เห็นความสำคัญของดูแลสุขภาพตนเองก่อนเรื่องอื่น สร้างความตระหนักให้แก่นักเรียนว่าสถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่อยู่คงทนถาวร และคอยเตือนนักเรียนให้มีความมุ่งมั่นและคำนึงถึงเป้าหมายในการเรียนของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญ โดยการเปลี่ยนจุดโฟกัสและเน้นว่าไม่ใช่เพียงเรื่องเกรดอย่างเดียวที่มีความสำคัญ นักเรียนสามารถรู้สึกผ่อนคลายกับการเรียนมากยิ่งขึ้นและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

          นโยบายการศึกษาของไทยโดยส่วนใหญ่จะมุ่งฝึกฝนให้นักเรียนมีทักษะที่หลากหลายและมีการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อรองรับความสามารถทุกประเภทของนักเรียน ซึ่งรวมถึงการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาด้วย ที่มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเสริมศักยภาพของนักเรียนเพื่อให้มั่นใจว่าทักษะที่ฝึกฝนให้แก่นักเรียนนั้นมีความสอดคล้องตรงกับความต้องการทางเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างเช่น มีการนำพ่อครัวที่มีฝีมือระดับต้น ๆ เข้ามาช่วยในการพัฒนาออกแบบหลักสูตรการจัดเลี้ยงซึ่งจะช่วยให้หลักสูตรมีความน่าสนใจสำหรับนักเรียนและยังช่วยเติมช่องว่างความต้องการในภาคอุตสาหกรรมได้อีกด้วย

          ระบบการศึกษาในลักษณะดิจิทัลของประเทศไทย เป็นแนวคิดเดิมที่ได้มีการวางแผนไว้ว่าจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งการพัฒนาทั้งหลักสูตรด้านอาชีวศึกษาและด้านวิชาการ และกระบวนการเรียนรู้ให้มีความทันสมัยเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นและความปรารถนาในการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ประเทศไทยกำลังก้าวสู่มิติใหม่ที่น่าจับตามอง ซึ่งวิธีการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป และจากมาตรการล็อคดาวน์ช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสมากยิ่งขึ้นในการทำความเข้าใจถึงความต้องการของนักเรียนและมีการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า ทั้งหมดนี้จะเป็นการเตรียมการให้ประเทศไทยมีสภาพเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและสังคมมีความสุขทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและในการทำงาน

สามาถอ่านบทสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ ได้ที่นี่

*********************************************

แปล/เรียบเรียง : ฐิติ ฟอกสันเทียะ
พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
29 มิถุนายน 2563