Loading color scheme

วิกฤติด้านสาธารณสุข: สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข่าวลวงข้อมูลเท็จ

pic 7.1

ในช่วงที่โรคโควิด-19 เข้าสู่ภาวะระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ข้อมูลลวงและทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ได้แพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ในแอฟริกาและที่อื่น ๆ มีการอวดอ้างว่าชาดำ ใบสะเดา และซุปพริกไทย เป็นยาเทวดาที่มีสรรพคุณรักษาโรคโควิด-19 ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพื่อต่อต้านการแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลจึงต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องคอยติดตามและระงับการเผยแพร่ข่าวลวง รวมทั้งต้องพัฒนาให้รู้เท่าทันสื่อ
ดีองมา ดราเม
ผู้สื่อข่าวและนักวิจัยด้านสาธารณสุขที่ทำงานให้กับเว็บไซต์ภาษาฝรั่งเศสของ Africa Check องค์กรอิสระที่มุ่งตรวจสอบข้อเท็จจริงแห่งแรกของแอฟริกา ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล
โรคโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ที่ไม่เป็นที่รู้จักจนกระทั่งปี 2020 ได้ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเชื้อไวรัสใหม่ตัวนี้ที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบจากนักวิทยาศาสตร์ อาทิ ลักษณะภูมิคุ้มกันของผู้ที่ติดเชื้อ ฤดูกาลการแพร่ระบาดของไวรัส และความสามารถในการกลายพันธุ์ของไวรัส การขาดความรู้เกี่ยวกับโรคนี้และวิวัฒนาการของโรคทำให้เกิดความกระหายข้อมูลในแอฟริกาและที่อื่น ๆ จนนำไปสู่การแพร่กระจายของข่าวลือ ข่าวลวง และข้อมูลที่บิดเบือน โดยมีเครือข่ายสังคมออนไลน์ทำหน้าที่เป็นตัวกระจายข้อมูลข่าวสาร
องค์กรที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสอย่าง Africa Check ได้ดำเนินการต่อต้านข้อมูลลวงมาตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยคอยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารและยืนยันความถูกต้องน่าเชื่อถือ ก่อนนำบทความเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ประมาณ 50 บทความเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรุงดาการ์ แต่เมื่อยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผล บทความและข้อความเกี่ยวกับการรักษาอันน่าอัศจรรย์ที่อวดอ้างกันจึงเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และจากผลการวิจัยและคำกล่าวอ้างของดีดีเย ราอูลท์ นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อเกี่ยวกับการใช้ไฮดรอกซีคลอโรควินรักษาโรคโควิด-19 ทำให้มีการเผยแพร่ข้อมูลในวอทส์แอปและทวิตเตอร์ในหลายประเทศของแอฟริกาตะวันตกว่า ใบของต้นสะเดามีสารคลอโรควิน ข้อมูลนี้ทำให้ผู้คนแห่ไปเสาะหาใบสะเดากันให้วุ่น แต่ทว่าอนุพันธ์ของควินินนั้นไม่ได้มาจากพืช หากแต่มาจากการสังเคราะห์ทางเคมี ในทำนองเดียวกัน มีการส่งต่อข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ว่า ชาดำ ซุปพริกไทย วิตามินซี และกระเทียม เป็นอาหารที่ช่วยป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 ได้ แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาปฏิเสธว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่เป็นความจริง

การรับมือกับการแพร่ระบาดของข่าวสารที่บิดเบือนในสถานการณ์โควิด-19
เมื่อเผชิญกับข่าวลือและข้อมูลลวงมากมายบนอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก ผู้สื่อข่าวต้องทำงานหนักกว่าปกติถึงสองเท่า เพื่อตอบโต้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาของมูลนิธิบรูโน เคสเลอร์ของอิตาลีพบว่า 42% ของข้อความที่ปรากฏในทวิตเตอร์กว่า 178 ล้านข้อความที่พูดถึงเรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกสร้างขึ้นโดยหุ่นยนต์ และ 40% ของข้อความเหล่านั้น "เชื่อถือไม่ได้"

เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลให้ดีขึ้น องค์การยูเนสโกจึงได้จัดตั้งศูนย์สารสนเทศว่าด้วยเรื่องโควิด-19 ให้เป็นหน่วยงานกลางคอยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤติด้านสาธารณสุขที่คัดเลือกมาตรวจสอบความถูกต้องน่าเชื่อถือ เพื่อให้คำแนะนำในการต่อต้านข้อมูลที่ผิด ๆ และสนับสนุนให้มีการแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง

ยูเนสโกยังได้จัดทำคู่มือหลายเล่มเพื่อสนับสนุนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนักข่าว ซึ่งเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับข้อมูลที่บิดเบือน

จากการร่วมมือกับมูลนิธินวัตกรรมเพื่อนโยบาย (i4Policy) ยูเนสโกได้เปิดตัวแคมเปญรณรงค์บนพื้นที่ออนไลน์ #DontGoViral ด้วยการระดมศิลปินและผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมในแอฟริกาให้เข้ามามีส่วนร่วม โครงการที่ริเริ่มขึ้นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 แก่ชุมชนต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นภาษาต่าง ๆ ของทวีปแอฟริกาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทฤษฎีสมคบคิด
ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของไวรัสโควิด-19 ได้นำไปสู่การเผยแพร่รูปภาพและวิดีโอที่มีการตัดต่อ หรืออ้างข้อมูลโดยปราศจากบริบท เช่น วิดีโอบางเรื่องกล่าวอ้างว่าอาจมีการบังคับให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค แต่จริง ๆ แล้ววัคซีนนั้นถูกออกแบบมาเพื่อแพร่กระจายเชื้อไวรัสเสียมากกว่า ขณะที่วิดีโอบางเรื่องพยายามกระจายข้อมูลข่าวสารเรื่องการเลือกปฏิบัติ โดยมุ่งเป้าโจมตีชาวจีนเป็นการเฉพาะ มีการแสดงภาพการเผาอาคารที่เต็มไปด้วยร้านค้าต่าง ๆ ในนครอีบาดัน เมืองหลวงของรัฐโอโยในประเทศไนจีเรีย โดยบิดเบือนข้อมูลว่าเป็นการแก้แค้นเจ้าของอาคารที่เป็นชาวจีน แต่ข้อความในทวิตเตอร์จากทางการรัฐโอโยชี้แจงว่า แท้ที่จริงแล้ว อาคารดังกล่าวเป็นของชาวไนจีเรียต่างหาก และ 80% ของลูกจ้างในร้านค้าเหล่านั้นก็เป็นชาวไนจีเรีย

ท่ามกลางข่าวลวงเพื่ออธิบายเรื่องภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลกที่เกิดขึ้นและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีการกระจายข่าวการสมรู้ร่วมคิดของชาติตะวันตกที่ต่อต้านชาติแอฟริกาไปยังผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วทั้งทวีป โดยเฉพาะมีการแอบอ้างคำพูดของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งกล่าวเตือนในการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ Radio France Internationale (RFI) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2020 ว่า โรคโควิด-19 สามารถคร่าชีวิตผู้คนนับล้าน ๆ ในแอฟริกาได้ หากไม่รีบจัดทำมาตรการรับมือในทันที นอกจากนี้ทฤษฎีวัคซีนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ เพื่อควบคุมประชากรในแอฟริกาก็แพร่กระจายเหมือนไฟลามทุ่งเช่นกัน ข้อมูลเรื่องนี้ไม่เพียงแต่เป็นความเท็จอย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น แต่ยังถูกกุขึ้นมาอย่างจงใจเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด การแพร่สะพัดของข่าวลือและผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับวิกฤติเชื้อไวรัสโคโรนาเท่านั้น ในปี 2014 ข่าวลวงได้ปลุกกระแสต่อต้านกลยุทธ์ที่ใช้รับมือกับไวรัสอีโบลาในประเทศที่ได้รับผลกระทบบางประเทศด้วยเช่นกัน

ในบทความเรื่อง "‘ความพิเศษ’ ของโรคอีโบลาและ ‘การสงวนท่าที’ ของประชาชนในประเทศกินี" ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Anthropologie & Santé ในปี 2015 ซิลแวง ลังดรีย์ เฟย์ ได้อธิบายว่า กรณีการเสียชีวิตรายแรก ๆ จากเชื้อไวรัสภายในครอบครัวเดียวกัน ถูกมองว่าเป็นสัญญาณการลงโทษจากสิ่งลี้ลับ หรือไม่ก็เป็นคำสาปแช่งที่เกิดจากการกระทำความผิดอย่างการลักขโมย หรือการผิดประเวณี ข่าวลือเหล่านี้ทำให้ผู้คนยิ่งเชื่อกันมากขึ้นว่าโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาไม่มีอยู่จริง ส่งผลให้ชุมชนต่าง ๆ มีเจตคติปฏิเสธมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐและภาคีนำมาใช้ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ขณะที่มีข่าวลืออื่น ๆ พูดถึงศูนย์บำบัดรักษาโรคอีโบลา (ETC) ว่าเป็นสถานที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค เป็นสถานที่มรณะที่มีการลักลอบค้าอวัยวะมนุษย์

เติมเต็มช่องว่าง
ในกรณีของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สื่อสังคมออนไลน์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ และวอทส์แอป ทำให้ข่าวลวงส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากจะทำให้เข้าถึงข้อมูลทั่วโลกได้ แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังอนุญาตให้ผู้ใช้เพิ่มเติมหรือสร้างข้อมูลและกระจายข้อมูลดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ วิดีโอเกี่ยวกับไฟไหม้ในเมืองอีบาดันซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2020 จึงถูกแชร์มากกว่า 380,000 ครั้งในสามวันต่อมา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้มีการแพร่กระจายของข่าวลือและข่าวลวง อย่างเช่น ในเซเนกัล การให้ความสำคัญกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสของสื่อดั้งเดิม ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ครบถ้วน ทั้งนี้ประชาชนกำลังมองหาข่าวด้านบวกเกี่ยวกับการรักษาที่เป็นไปได้มากกว่า ด้วยเหตุนี้ จึงมีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์มาเติมเต็มช่องว่างนี้

ข่าวลวงซึ่งมักจะแพร่กระจายอยู่ในกลุ่ม หรือแวดวงของคนที่มีความคิดเห็นคล้าย ๆ กัน จะถูกบริโภคอย่างง่ายดายและถูกมองว่าเป็นข้อมูล “ที่มาจากแหล่งข่าวชั้นดี” บ่อยครั้งมีการอ้างว่าข้อความเสียงและข้อความตัวอักษรมาจากบุคคลที่มีชื่อเสียง มาจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการในโรงพยาบาล ซึ่งใช้หน้าที่ของตัวเองแบบผิด ๆ ด้วยการนำเสนอวิธีแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ เช่น การดื่มน้ำร้อน หรือใช้น้ำผสมเกลือกลั้วคอเป็นประจำจะช่วยฆ่าเชื้อโรคในลำคอได้ แม้แต่ผู้นำทางศาสนาก็ยังออกมาแสดงบทบาทเช่นนี้ด้วย

แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่ประชาชนจะสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างข้อมูลจากสื่อดั้งเดิมซึ่งผ่านกระบวนการรวบรวม ประมวล และตรวจสอบข่าวสารอย่างเข้มงวด กับข้อมูลที่หาได้ตามสื่อสังคมออนไลน์ ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือทำให้เข้าใจผิดอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม เพราะความต้องการอยากจะเชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่วิกฤติ มักจะมีน้ำหนักมากกว่าความต้องการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเสมอ

พัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
ข่าวลวงที่มีอยู่มากมายมหาศาลบนโลกออนไลน์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ขนานนามว่า “การระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง” กระตุ้นให้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ เปิดฉากรุกเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนเนื้อหาจากแหล่งข่าวที่เป็นทางการ หรือห้ามการโฆษณาที่อวดอ้างการรักษาอันน่าอัศจรรย์ ผู้สื่อข่าวที่เชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างนักข่าวที่ทำงานให้กับองค์กร Africa Check และเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่น ๆ ทั่วโลก ต่างต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขให้ได้ข้อเท็จจริงและรับรองแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าความพยายามยับยั้งการไหลบ่าของข้อมูลที่ผิดนั้นยังไม่เพียงพอ ในเดือนพฤษภาคม องค์การสหประชาชาติจึงได้เปิดตัว Verified เครื่องหมายถูกสีฟ้าที่มีการรณรงค์ไปทั่วโลก ซึ่งช่วยสร้างกลุ่ม “ด่านหน้าทางดิจิทัล” ในการแชร์ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ชัดเจน และถูกต้องเกี่ยวกับวิกฤติโรคระบาด พร้อมกับสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยอันตรายของข้อมูลที่ผิด
ในปี 2019 เฟซบุ๊กได้เปิดตัวเครื่องมือตั้งค่าสถานะใหม่ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้อินสตาแกรมตั้งค่าสถานะโพสต์ที่พวกเขาคิดว่าเป็นข่าวลวงได้ แนวคิดที่ดีอีกเช่นกันคือการดึงบล็อกเกอร์ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้และช่วยฝึกฝนผู้ดูแลสื่อออนไลน์ รวมทั้งผู้ดูแลบอร์ดสนทนาให้ต่อต้านข่าวลวงต่าง ๆ เราสามารถเลียนแบบโครงการริเริ่มที่ประสบความสำเร็จได้ ตัวอย่างหนึ่งที่ควรเลียนแบบคือ Wa FM สถานีวิทยุบนอินเทอร์เน็ตที่ตั้งขึ้นในประเทศโกตดิวัวร์ในเดือนมีนาคม 2020 เพื่อต่อต้านข่าวลวงเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เนื่องจากออกอากาศในวอทส์แอปเป็นหลัก จึงอาศัยเครือข่ายนักข่าวอาสาสมัครราว 200 คนที่เดินไปมาบนท้องถนนในโยปูกง ย่านชนชั้นแรงงานในเมืองอาบีจาน ให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเพื่อแก้ไขข่าวลวงบนโลกออนไลน์ และให้ความรู้พร้อมกับสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป
การต่อต้านข่าวลวง เราจำเป็นต้องใช้ช่องทางเดียวกันกับที่ข่าวลวงถูกป้อนและเผยแพร่ในแอฟริกาและที่อื่น ๆ การส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลที่พวกเขาได้รับก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการกระตุ้นประชาชนให้ตั้งคำถามถึงที่มาของแหล่งข้อมูลและตัวตนของผู้เขียน หากไม่มีการศึกษาเรื่องสื่อในลักษณะนี้ ทฤษฎีสมคบคิดและข่าวลวงก็จะยังคงแพร่กระจายในโลกออนไลน์โดยไม่มีการตรวจสอบไปได้เรื่อย ๆ

โดย ดีองมา ดราเม
แปลโดย เสาวรส มิตราปิยานุรักษ์
รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
14 พฤษภาคม 2564

ติดตามอ่านข้อมูลที่น่าสนใจได้ที่

Ale Merry