Loading color scheme

เตรียมการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็น UNESCO Global Geopark

UNESCO Global Geopark1

วันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2561 นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาสภากาแฟ จังหวัดนครราชสีมา ณ บริเวณสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการผลักดันอุทยานธรณีโคราชเป็น UNESCO Global Geopark รวมถึงการสนับสนุนให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นดินแดนแห่ง 3 มงกุฎ หรือ UNESCO Triple Crown ซึ่งประกอบด้วยแหล่งสำคัญที่ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกแล้วอีก 2 แห่ง คือ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และแหล่งมรดกโลกป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

UNESCO Triple Crown คือรูปแบบการอนุรักษ์พื้นที่ตามโปรแกรมของยูเนสโก 3 แบบ คือ มรดกโลก (World Heritage) พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve Area) และ อุทยานธรณี (Geopark) สำหรับรูปแบบการอนุรักษ์ของอุทยานธรณีเป็นรูปแบบการอนุรักษ์ใหม่ โดยใช้ธรณีวิทยาในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนโดยเชื่อมโยงส่วนประกอบด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อาทิ วิถีชุมชน วัฒนธรรม โบราณคดี การท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันมีอุทยานธรณีจำนวนกว่า 120 แห่ง จาก 33 ประเทศทั่วโลก ในอาเซียนมีประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียนแหล่งอุทยานธรณีโลกแล้ว คือ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประเทศละ 1 แห่ง ในขณะที่อุทยานธรณีสตูลซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย กำลังอยู่ในระหว่างรอการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีระดับโลก ในส่วนของอุทยานธรณีโคราชนั้น ประกอบด้วยพื้นที่ 5 อำเภอ (สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ) รวม 3,243 ตารางกิโลเมตร มีความโดดเด่นด้านธรณีวิทยา เช่น หินประเภทต่างๆ ภูเขา หน้าผา น้ำตก ซากดึกดำบรรพ์ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางเชิงวัฒนธรรม สินค้าชุมชน เป็นต้น หากอุทยานธรณีโคราชได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีโลก ไทยก็จะเป็นประเทศที่ 3 ที่มีรูปแบบการอนุรักษ์ของ UNESCO ครบทั้ง 3 โปรแกรมในพื้นที่เดียวกันคือจังหวัดนครราชสีมา หรือ UNESCO triple crowns  โดยขณะนี้มีดินแดนในลักษณะดังกล่าวแล้ว คือ เกาหลีใต้และอิตาลีกิจกรรมเสวนาสภากาแฟประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โปรแกรมทั้ง 3 ของยูเนสโก โดยเฉพาะอุทยานธรณี การเสวนาในหัวข้อ “โคราช จะเป็น The UNESCO Triple Crown แห่งแรกของประเทศไทย แห่งที่ 3 ของโลก” โดยนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องนี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการในฐานะคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรม/โปรแกรมของยูเนสโกในทุกด้าน ที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนตามโปรแกรมต่างๆของยูเนสโกนั้น กระทรวงศึกษาธิการมีส่วนในการสนับสนุน และประสานไปยังยูเนสโกผ่านช่องทางต่างๆ โดยตระหนักถึงแนวคิดสำคัญของการก่อตั้งองค์การยูเนสโกคือ การสร้างสันติภาพผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างของคนในสังคม ทั้งนี้ ยูเนสโกเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้เกิดจิตสำนึกและสร้างความยั่งยืน รวมทั้งการปลูกฝังแก่เยาวชน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ชุมชน ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็น UNESCO Global Geopark และนำโคราชไปสู่การเป็น UNESCO Triple Crown ต่อไป นอกจากนี้ ได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ มีความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ข้อมูล และสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนและเยาวชนได้เข้าใจและเรียนรู้โปรแกรมของยูเนสโก และจัดอบรมเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่สำหรับดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ในการนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และจังหวัดนครราชสีมา เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนยกระดับและความยั่งยืนด้านมาตรฐานคุณภาพ ตามแนวทางขององค์การยูเนสโกของมรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล และอุทยานธรณีในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และนำไปสู่คุณค่าระดับผู้นำโลกในลักษณะดินแดนแห่ง 3 มงกุฎ หรือ UNESCO Triple Crown ต่อไป

UNESCO Global Geopark2 19 1 2561

*************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
19 มกราคม 2561