Loading color scheme

การประชุมรัฐมนตรีศึกษาของเอเปค ครั้งที่ 6 กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู

Education Growth 5 6 10 2559

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของเอเปค ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อการประชุมฯ คือ Education Growth : Competencies, Employability and Innovation จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 6 ตุลาคม 2559  ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการศึกษา และให้การรับรองยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของเอเปค รวมทั้งแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของเอเปค โดยมีรัฐมนตรีด้านการศึกษาของเอเปค ประกอบด้วย  ออสเตรเลีย บรูไน ดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี  เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกีนี เปรู ฟิลิปปินส์ สหพันธรัฐรัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
         ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทยได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวนำในหัวข้อ “Employability: Transition from Education to Work for Economic and Social Growth” Priority Area: Promotion of collaboration between Government, universities, TVET institutions, private sector and education and training stakeholders to ensure that education is oriented to industry/business demands and regional labour market needs ซึ่งมีสาระสำคัญว่าการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ถือเป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของประเทศไทยเพื่อมุ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสร้างความรุ่งเรืองของประเทศ ภายใต้นโยบาย QEOS คือ Quality, Equity, Opportunity และ Sustainability เพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยประเทศไทยมีการลงทุนการศึกษามากกว่าร้อยละ 20 เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการมีงานทำ  
ประการแรก คือการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน ภายใต้แนวคิด “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อพัฒนาผู้เรียนตามแนวคิด 4 H ในด้านสติปัญญา (head) ด้านทัศนคติ (heart) ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง (hands) และด้านสุขภาพ (health) เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ความถนัดของตัวเองได้แต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้ ได้ให้การดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ทั่วประเทศ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดยให้การดูแลเด็กพิเศษกว่า 410,000 คน เป็นเด็กพิเศษ 370,000 คน ที่เรียนในห้องเรียนร่วม และ 40,000 คน ที่เรียนในโรงเรียนพิเศษ 48 แห่ง และศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 แห่งทั่วประเทศ โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียนรวมถึงการพัฒนาครูที่มีความรู้เฉพาะทาง เพื่อสอนเด็กพิเศษเหล่านี้อย่างมีคุณภาพ

Education Growth1 5 6 10 2559       ประเทศไทยได้จัดการศึกษาทางไกลผ่านโปรแกรมการศึกษาทางดาวเทียมให้แก่โรงเรียน 15,000 แห่ง ในพื้นที่ห่างไกล พร้อมงบประมาณอีก 15,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบอินเทอร์เนตความเร็วสูงในโรงเรียนกว่า 30,000 โรง ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า รวมทั้งให้การฝึกอบรมครูให้ก้าวทันเทคโนโลยีดังกล่าว
เรื่องที่สอง ประเทศไทยจะขยายสเต็มศึกษาไปสู่โรงเรียนทุกแห่ง ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งครอบคลุมทั้งวิชาสายสามัญและอาชีวะศึกษา
เรื่องที่สาม คือ การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานใน 33 กลุ่มอาชีพ โดยร่วมกันวิเคราะห์ความต้องการกำลังคน การพัฒนาครู หลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน การจัดทดสอบมาตรฐานวิชาชีพ การฝึกปฏิบัติงาน และการรับเข้าทำงานโดยได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้ ภายใต้โครงการสาน
พลังประชารัฐ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เพื่อผลิตแรงงานให้ตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนทั้งในด้านคุณภาพ และปริมาณ โดยได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนชั้นนำ ดำเนินการในเรื่องการปรับภาพลักษณ์การเรียนสายอาชีวศึกษา การจัดตั้งสถานศึกษาที่เป็นเลิศด้านอาชีพ การจัดทำฐานข้อมูลความต้องการกำลังคนและการผลิต และการจัดทำมาตรฐานกลางด้านการอาชีวศึกษาเพื่อการว่าจ้างงาน
เรื่องที่สี่ ได้แก่ การจัดตั้งกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และการดำเนินการตามกรอบอ้างอิงคุณวุฒิของอาเซียน โดยมีการปรับแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
เรื่องที่ห้า ได้แก่ การจัดระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นให้นักเรียนสามารถเรียนข้ามสายในการศึกษาสามัญ และอาชีวศึกษา โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ
ใบประกาศนียบัตรทั้งสายสามัญ และวิชาชีพ

เรื่องที่หก ได้แก่ โครงการทวิวุฒิ เพื่อพัฒนาผู้เรียนในสายอาชีวศึกษาให้สามารถที่จะเรียนในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนครู หรือนักเรียน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับคุณวุฒิจากสถาบันอาชีวศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งไทยได้ดำเนินความร่วมมือแล้วกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคบางแห่ง
เรื่องที่เจ็ด คือการปรับทิศทางการพัฒนาอุดมศึกษาไทย โดยให้มีการปรับประเภทของมหาวิทยาลัยเป็น มหาวิทยาลัยด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยชำนาญพิเศษ และมหาวิทยาลัยชุมชน ปัจจุบัน ได้มีการลงทุนในด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากร้อยละ 0.6 เป็น 1.0 ของ GDP
เรื่องที่แปด คือการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการเรียนทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน เพื่อการพัฒนาทักษะด้านภาษา และความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ มีการตั้งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาและคณะกรรมาธิการปฏิบัติงานด้านการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานระดับกระทรวงเพื่อประสานงานกับคณะกรรมาธิการจังหวัดด้านการศึกษาด้วย
     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้ย้ำพันธกิจการศึกษาที่พร้อมจะพัฒนา ไปข้างหน้าภายใต้บริบทของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกฏหมาย การกำหนดนโยบายเพื่อการผลิตผู้เรียนให้มีศักยภาพเต็มที่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษนี้ โดยประเทศไทยพร้อมจะมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยไม่ทอดทิ้งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้อยู่เบื้องหลัง และยินดีที่จะทำงานร่วมกับเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ในการพัฒนาศักยภาพของประชาชนและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเขตเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป

Education Growth2 5 6 10 2559

อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

*****************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 ตุลาคม 2559