Loading color scheme

การหารือด้านการศึกษากับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

 

 

ในโอกาสนี้ได้หารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และได้เสนอแนวทางในการกระชับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและสหรัฐฯ ได้แก่

1) การพัฒนาความร่วมมือระดับอาชีวศึกษา : ปัจจุบันบริษัทอเมริกันที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยได้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียน/นักศึกษาไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา ในสาขาด้านวิศวกรรมและด้านเทคนิค เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากร/แรงงานที่มีทักษะในภาคอุตสาหกรรม ในการนี้ ประสงค์จะขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา

 

2) การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาของไทย : ปัจจุบันฝ่ายสหรัฐฯ กำลังดำเนินโครงการอาสาสมัคร Peace Corps ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยจัดส่งอาสาสมัครชาวอเมริกันมาปฏิบัติหน้าที่สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างๆ โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินโครงการดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งนักเรียนของไทยและอาสาสมัครชาวอเมริกันที่มาช่วยสอน

 

3) การขยาย ความร่วมมือด้านการศึกษา : ได้เสนอขยายขอบเขตจากการแลกเปลี่ยนนักเรียน/นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา เป็นการแลกเปลี่ยนในระดับผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศ รวมทั้งขอให้ขยายโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน/นักศึกษาไปทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะจังหวัดชายภาคใต้ของประเทศไทย

 

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของทั้งสองประเทศได้พบปะเพื่อหารือความร่วมมือด้านการศึกษาเพิ่มเติมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และได้เสนอแนวทางความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา โดยประสงค์จะร่วมมือกับเครือข่ายประเทศต่างๆ มาร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบทวิภาคี ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อให้นักเรียนหันมาเลือกเรียนในสายอาชีวศึกษามากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 50:50 และเพื่อให้บุคลากรที่สำเร็จการศึกษาในระดับอาชีวศึกษามีทักษะฝีมือที่ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ และเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังนั้น จึงประสงค์จะเชิญชวนภาคธุรกิจของสหรัฐอเมริกาที่มาลงทุนในไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษาตลอดทั้งกระบวนการ นับตั้งแต่คุณสมบัติของแรงงานที่ต้องการ หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การฝึกปฏิบัติงานในบริษัท/โรงงาน ซึ่งการดำเนินการด้านการศึกษาทวิภาคีจะมีประโยชน์ทั้งต่อภาคธุรกิจที่จะได้แรงงานที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ และกระทรวงศึกษาธิการได้ผลิตคนที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้กล่าวถึงการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องมีการปรับยุทธศาสตร์และกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นให้นักเรียนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้จริง ดังนั้น จึงประสงค์จะขอความร่วมมือจาก สถานเอกอัครราชทูตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในเวทีหารือเพื่อร่วมกันคิดยุทธศาสตร์ในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

-------------------------------

 

กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.

กระทรวงศึกษาธิการ

28 สิงหาคม 2556