ข่าวสารกิจกรรม
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 7 ณ จังหวัดเชจู สาธารณรัฐเกาหลี
เมื่อวันที่ 13 - 15 พฤษภาคม 2568 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ) พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค (APEC Education Ministerial Meeting: AEMM) ครั้งที่ 7 ณ จังหวัดเชจู สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้หัวข้อหลัก “นวัตกรรม เชื่อมโยง และมั่งคั่ง” (Innovate, Connect, and Prosper) ซึ่งมีผู้แทนระดับรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูง และระดับนโยบายจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคเข้าร่วมการประชุม
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ และเน้นย้ำความสำคัญของการบูรณาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และครอบคลุม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ในระดับการศึกษา และการพัฒนาทักษะใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงและแรงงานนอกระบบ ตามกรอบแผนแม่บท La Serena
ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยผ่านการกล่าวถ้อยแถลง ในทั้ง 3 หัวข้อหลักของการประชุม ได้แก่
1. นวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในยุคดิจิทัล ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเน้นการศึกษาเฉพาะบุคคลให้เหมาะกับความสนใจและความต้องการของผู้เรียนทุกคน โดยดำเนินการใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วย AI – ใช้ระบบ การสอนอัจฉริยะเพื่อปรับให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน 2) ขยายการเข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์ – ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล 3) พัฒนาทักษะดิจิทัลของครู – สนับสนุนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียน เป็นศูนย์กลาง ทุกเขตเศรษฐกิจต่างตระหนักถึงความสำคัญของการนำ AI และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการศึกษาอย่างมีจริยธรรม เท่าเทียม ปลอดภัย และตอบโจทย์ผู้เรียนในแต่ละบริบท พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาครู และการสร้างระบบที่ยืดหยุ่นและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน
2. การเชื่อมโยงเพื่อการขยายโอกาสทางการศึกษา ประเทศไทยส่งเสริมแนวคิด "การเรียนรู้อย่างมีความสุข" (Happy Learning) และสนับสนุนการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่นทุกที่ทุกเวลา โดยดำเนินโครงการสำคัญ ได้แก่
1) นโยบาย Zero Dropout ใช้ข้อมูลเพื่อติดตามและช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา
2) การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้เฉพาะบุคคล โดยเฉพาะในพื้นที่ด้อยโอกาส 3) นโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต สนับสนุนการพัฒนาทักษะต่อเนื่อง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านโครงการแลกเปลี่ยนครู นักเรียน และแพลตฟอร์มการศึกษาแบบดิจิทัล เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ครอบคลุมและเท่าเทียม เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคต่างเห็นถึงความจำเป็นในการลดช่องว่างด้านการศึกษา การลงทุนในทักษะแห่งอนาคต โดยเฉพาะด้านดิจิทัลและ AI ทั้งนี้ ควรใช้ความร่วมมือระดับภูมิภาคของเอเปค เป็นเวทีในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และควรมองการศึกษาเป็นทั้งเครื่องมือทางเศรษฐกิจ และสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างกัน
3. ความมั่งคั่งผ่านระบบการศึกษาที่ยั่งยืน ประเทศไทยมองว่า การศึกษาควรเป็นเครื่องมือในการรับมือกับความท้าทายโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรบกวนทางเทคโนโลยี โดยเน้น 1) ความร่วมมือด้านการศึกษา ทั้งระดับพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา 2) การวิจัยและนวัตกรรมร่วมกัน ในด้านทักษะสีเขียว เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาครู 3) การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ BCG (ชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว) เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคเห็นพ้องว่า การลดช่องว่างของการเข้าถึงการศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กยากจน เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เด็กย้ายถิ่น เป็นต้น รวมทั้งการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในอนาคต เช่น การคิดวิเคราะห์ ทักษะดิจิทัล soft skill green skill การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นประชากรที่ลดลง การเปลี่ยนแปลง ด้านดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน และผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นโดยสาธารณรัฐเกาหลีร่วมกับสำนักงานเลขาธิการเอเปค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการศึกษา และยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านการศึกษาของเอเปคในอนาคต โดยที่ประชุมได้มีการรับรอง แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ยืดหยุ่น และครอบคลุม โดยมุ่งเน้นการบูรณาการ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างมีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้พร้อมรับมือกับโลกอนาคต และข้อริเริ่มเอเปคของสาธารณรัฐเกาหลี หัวข้อ “Bridging Educational Gaps and Advancing Sustainable Growth”
สรุป / เรียบเรียง : พงศกร รุทระวณิช /รุ่งกานต์ พันธุ์ภักดี
ภาพ : สำนักงานเลขาธิการเอเปค /กลุ่มความร่วมมือพหุภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
16 พฤษภาคม 2568