Loading color scheme

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการนำคณะผู้แทนไทยเยี่ยมชมโรงเรียนมัธยมศึกษาสตรีซอกวีโป จังหวัดเชจู สาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 7

เอเปค 7 16 5 2568

          เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรม School Visit ณ โรงเรียนมัธยมศึกษาสตรีซอกวีโป (Seogwipo Girls' Middle School - 서귀포여자중학교) จังหวัดเชจู สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเปค ครั้งที่ 7 (7th APEC Education Ministerial Meeting – AEMM 2025)

เอเปค 7 1 16 5 2568

          โรงเรียนมัธยมศึกษาสตรีซอกวีโป ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1960 เป็นโรงเรียนสตรีระดับมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดสำนักงานการศึกษาเมืองซอกวีโป จังหวัดเชจู ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน 426 คน และครู 34 คน โดยมี Mr. Song Mun Suk เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมีเป้าหมายในการส่งเสริมคุณธรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักเรียน พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง และชุมชน ภายใต้วิสัยทัศน์ “โรงเรียนแห่งความสุขที่ส่งเสริมคุณลักษณะและการคิดสร้างสรรค์”

          คณะผู้แทนไทยได้รับฟังการกล่าวต้อนรับและแนะนำภาพรวมของโรงเรียนจากคณะผู้บริหารโรงเรียนก่อนเยี่ยมชมการเรียนการสอนในห้องเรียนดิจิทัล ซึ่งนักเรียนใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ทั้งในห้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และห้องเรียนแนวใหม่ที่ส่งเสริมการนำเสนอ การทำงานกลุ่ม และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ คณะยังได้เข้าเยี่ยมชม English Lounge ห้องสมุดของโรงเรียน และบรรยากาศชั้นเรียนพลศึกษาที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีมผ่านกิจกรรมกีฬา

เอเปค 7 2 16 5 2568

          จากนั้นคณะได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักเรียนในโรงอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย K–School Lunch  ที่โรงเรียนจัดทำอาหารกลางวันโดยใช้ครัวภายในของโรงเรียนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเน้นวัตถุดิบที่สดใหม่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมสุขภาพนักเรียนและลดภาระของผู้ปกครอง

         โอกาสนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการได้แสดงความชื่นชมในวิสัยทัศน์ของโรงเรียนมัธยมศึกษาสตรีซอกวีโปในการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับการเรียนรู้ที่ส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนอย่างรอบด้าน และเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาของภูมิภาคเอเปคให้เท่าเทียม ทันสมัย และยั่งยืนในยุคดิจิทัล

          นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้มีโอกาสพบปะนักศึกษาไทยที่เมืองเชจู จำนวน 2 คน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเชจู ได้แก่ นางสาวณสนนท์ ขำคมเขตร์ (เอิร์น) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และศึกษาต่อปริญญาโท คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม  และนางสาวอัยรินทร์ กนิษฐารมย์ (จีจี้) กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ปีที่ 2 คณะการค้าระหว่างประเทศ

เอเปค 2025 16 5 2568

          นักศึกษาได้เล่าถึงประสบการณ์การเรียนและใช้ชีวิตในต่างแดน โดยระบุว่าการเรียนในสาธารณรัฐเกาหลีมีความแตกต่างจากไทยหลายด้าน ทั้งในด้านระบบการศึกษา เทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนการสอน และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ ทั้งนี้ นักศึกษาไทยถือว่าค่อนข้างมีความรู้รอบตัวที่ดี และคิดว่าระบบการศึกษาของไทยในระดับปริญญาตรีค่อนข้างที่จะมีความเข้มข้น ขณะที่สาธารณรัฐเกาหลีมีแนวทางการเรียนที่เปิดกว้าง โดยให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาพื้นฐานแบบหลากหลายในช่วงต้น ก่อนเข้าสู่ระดับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการศึกษาภาคบังคับควรให้ความรู้พื้นฐานจนถึงระดับมัธยมต้น และเปิดโอกาสให้มีทางเลือกมากขึ้นในระดับมัธยมปลาย และเห็นว่าในแง่ของทรัพยากรการเรียนรู้ โรงเรียนของรัฐในสาธารณรัฐเกาหลีมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การเรียนสูง รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และอาจต่อเนื่องถึงมัธยมต้น ทั้งนี้นักศึกษายังย้ำว่า “สื่อการสอนที่เกาหลีใช้นวัตกรรมมากกว่า ทำให้เรียนรู้ได้สะดวกและเข้าใจง่าย”

          นักศึกษาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังสำเร็จการศึกษา ตั้งใจจะนำความรู้และประสบการณ์กลับไปพัฒนาประเทศไทย พร้อมแนะนำว่า การศึกษาต่อต่างประเทศควรศึกษาข้อมูลของมหาวิทยาลัยผ่านเว็บไซต์โดยตรง เพื่อวางแผนเส้นทางการเรียนอย่างรอบคอบและเหมาะสมกับเป้าหมายในอนาคตต่อไป

 

ภาพ / ข่าว : ภัทร พีระพันธุ์ หินเมืองเก่า
รุ่งกานต์ พันธุ์ภักดี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
16 พฤษภาคม 2568