Loading color scheme

การประชุม โครงการ Picture Books Program Sharing Forum

Picture Books 15 6 2566

          กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED ร่วมกับบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนา นำร่อง “การใช้หนังสือภาพเพื่อเสริมสร้างทักษะ การคิดอย่างมีวิจารณญาณและเข้าใจถึงจิตวิญญาณของ การอ่าน” ซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกอบรมครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ในด้านสะเต็มศึกษา เนื่องจาก ที่ผ่านมาพบว่าผู้เรียนยังขาดทักษะการคิดสร้างสรรค์ การปลูกฝังในสิ่งเหล่านี้จึงควรเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนต้น ผ่านการใช้หนังสือภาพ จำนวน 10 เล่ม มาสอนในชั้นเรียน โดยใช้เวลา 3 คาบเรียน ครั้งละ 40 นาที เป็นเวลา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และทดลองในโรงเรียนนำร่องจำนวน 16 โรงเรียน โดยใช้ครูจำนวน 32 คน และนักเรียนจำนวน 600 คน

Picture Books2 15 6 2566

          การจัดการประชุม Picture Books Program Sharing Forum ระหว่างวันที่ 7 – 9 พฤษภาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ และชุมชนม่วงงาม จังหวัดสงขลา เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อเสนอแนะ ต่อโครงการ โดยมีครูและโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกทั่วประเทศและทีมนักวิจัยโครงการจากมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการสรุปและแลกเปลี่ยนผลการวิจัยและข้อสรุปจากโครงการ ฯ โดยใช้หนังสือจำนวน 10 เล่ม ได้แก่ Rosies’ Walk (แม่ไก่ไปเดินเล่น) งานแรกของมี้จัง ดินแดนแห่งเจ้าตัวร้าย หมวกใบเล็กของเจ้าปลายักษ์ บนรถเมล์ สวนของเม ครั้งหนึ่งฉันเคยเป็นปลา ติดแหง็ก กำแพงกลางหนังสือ และทำไมปล่อยให้ที่นี่เละเทะขนาดนี้ ซึ่งครั้งนี้ได้มีการนำหนังสือเรื่อง บนรถเมล์ -L'AUTOBUS แต่งโดย มาคิอาน ดูบูค (Marianne Dubuc) มาใช้เพื่อค้นหา Timeline ที่สมบูรณ์ที่สุด

Picture Books1 15 6 2566

การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่
          1. เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้: ห้องเรียนหนังสือภาพ จุดประกายความคิดนักเรียนสู่ชีวิตจริง
มีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ได้แก่ นักวิจัย ผู้ปกครอง นักเรียน ครู และผู้อำนวยการ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการ ดังนี้

          1) ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED ได้กล่าวถึงความเป็นมาขององค์การซีมีโอ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อรวมพลังกันขับเคลื่อนระบบการศึกษาในระบบภูมิภาค โครงการ Picture book เป็นโครงการหนึ่งของศูนย์ฯ ที่จะฝึกทักษะให้เด็ก ๆ มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณซึ่งศูนย์ฯ จะนำโครงการไปขยายผลในระดับภูมิภาคต่อไป

          2) คุณพรสุรีย์ กอนันทา ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของเชฟรอนในการพัฒนาชุมชนและพื้นที่ที่ดำเนินงาน มาตลอดโดยร่วมกับภาครัฐและชุมชนทุกภาคส่วนเชฟรอนตระหนักมาตลอดว่าไม่มีอะไรสำคัญมากกว่าพลังคน จึงได้เกิดโครงการ Picture book เพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย พัฒนาศักยภาพของนักเรียน เพื่อเสริมสร้างความคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการอ่านอย่างมีความหมาย รองรับความเปลี่ยนแปลง ในอนาคต

          3) ดร.รังรอง สมมิตร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการฯ ที่ต้องการจะพัฒนากระบวนการคิดให้กับนักเรียน รู้สึกปลื้มใจ ที่คุณครูได้ทุ่มเทความพยายามในการนำ picture book ไปใช้ในห้องเรียน โดยครูมีส่วนสำคัญมากในการพัฒนาทักษะการอ่าน และหนังสือภาพจะช่วยสร้างคลังคำศัพท์ให้กับเด็ก ๆ ผ่านการฟังเรื่องราวจากหนังสือภาพ ซึ่งผลจากการวิจัย พบว่าเด็กที่ฟังมาก มีคลังคำศัพท์มาก เด็กก็จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ มนุษย์ที่มีคลังคำศัพท์เยอะ จะมีกระบวนการความคิดที่ลึกซึ้งและซับซ้อน เราต้องทำให้เด็กเขาอยากคิด อยากสังเกตก่อน ซึ่ง picture book คือ เครื่องมือที่จะช่วยสร้างให้เกิดกระบวนการนั้นขึ้น เรากำลังเรียนรู้ร่วมกันด้วยวิธีการใหม่ เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้

          4) ครูอัมพร ลีกู โรงเรียนแกน้อยศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวว่าก่อนเข้าร่วมโครงการเห็นว่า มีหนังสือภาพ คิดว่าจะเป็นเหมือนนิทาน แต่พอเข้าร่วมโครงการจริง ๆ ถึงได้เข้าใจว่าไม่ง่าย เพราะต้องใส่ใจรายละเอียด ครูต้องคอยกระตุ้นให้เด็กตอบคำถาม ตั้งคำถาม ไม่มีการบอกผิด/ถูก ซึ่งวิธีเดิม ที่สอนกันมา คือ ครูจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง นักเรียนต้องตอบคำถามให้ถูกต้อง มีผิดกับถูกเท่านั้น แต่พอเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ ครูและนักเรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น รู้จักเด็กมากขึ้นผ่านการตั้งคำถามปลายเปิด ให้เขาได้คิดอย่างอิสระ สำหรับในพื้นที่ห่างไกล มีเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (จีนยูนนาน) ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็น ภาษาหลัก เด็กบางคนพูดภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้นการสื่อสารค่อนข้างมีปัญหา แต่เมื่อมีหนังสือภาพเข้ามา การให้เด็กวาดภาพประกอบการสื่อความหมายช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น picture book ได้สร้างให้เด็กคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นเหมือนแสงสว่างให้กับเด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างอิสระตามที่อัลเบิร์ต ไอน์ไตน์ ได้กล่าวไว้ว่า “Imagination is more important than Knowledge -จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้”

          5) ดร.พัชรินทร์ ชัยจันทร์ ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 1 สว่างวิทยา จังหวัดหนองคาย ได้กล่าวถึงความสำคัญการพัฒนาของนักเรียน โดยให้ครู “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ทำความเข้าใจกับครู คนอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการว่าต้องให้เวลากับครูที่เข้าร่วมการ picture book ได้ทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ในชั่วโมงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ อยากให้ครูเวลาไปเข้าร่วมกิจกรรมแล้วเห็นว่ามีประโยชน์กับนักเรียนกลับมาเล่าให้ผู้อำนวยการฟัง ทำความเข้าใจเพื่อที่เขาจะได้เข้าใจว่าจะต้องช่วยอย่างไรให้ถูกทาง เพื่อให้ งานบรรลุผลสำเร็จ โครงการนี้ช่วยให้เด็กได้ “ความกล้า” เด็ก ๆ กล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูด กล้าที่จะลงมือทำ ซึ่งก่อนหน้านี้ เด็ก ๆ ยังขาดความกล้าที่จะรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน ๆ โรงเรียนกำลังดำเนินการขยายผล โดยจะบูรณาการกับอีกสองโรงเรียนในเทศบาลเมืองหนองคาย คือ โรงเรียนเทศบาล 1 และ 3

          6) เด็กชายกวีพัฒน์ สายชนะพันธ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านแหลมทราย จังหวัดสงขลา ได้แสดงความคิดเห็นว่าชอบหนังสือเรื่อง ครั้งหนึ่งฉันเคยเป็นปลา เพราะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของปลาว่าก่อนที่เราจะเป็นคน เราเคยเป็นปลามาก่อน ชอบหนังสือภาพหน้าที่มี รูปภูเขาไฟระเบิด เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ตอนเรียน picture book รู้สึกสนุกสนาน และ ได้ความรู้เพิ่มขึ้น มีโอกาสได้นำเสนอในชั้นเรียน และอยากเรียนหนังสือภาพเพราะได้สังเกต

          7) นางสาว อรสา จันทสโร ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดโลกา จังหวัดสงขลา ได้แสดงความคิดเห็นว่าได้ยินโครงการครั้งแรกก็ชอบมาก เพราะส่วนตัวชอบหนังสือภาพอยู่แล้ว ไม่ค่อยชอบหนังสือวิชาการที่ตัวหนังสือเยอะ ๆ ตอนตั้งครรภ์หมอได้แนะนำให้อ่านหนังสือเพลง อ่านนิทาน ร้องเพลงให้ลูกฟัง หนังสือเล่มแรกที่ซื้อให้ลูกคือ ลูกหมูสามตัว ผลัดกันเล่ากับพ่อให้ลูกฟัง จนทุกวันนี้เขาก็ยังจำสิ่งที่เราเล่าให้ฟังได้อยู่ เมื่อมีโครงการ picture book เข้ามา ลูกคนกลาง (น้องหยก) กลับจากโรงเรียนแล้ว เขามาเล่าให้น้อง ๆ ฟัง มีการวาดภาพสิ่งที่เขาได้อ่าน แม่ก็ได้เห็นถึงจินตนาการของเขา เห็นด้วยถ้าจะใช้หนังสือภาพเป็นสื่อการเรียนการสอน การที่มีรูปภาพ มีสีสัน มีตัวการ์ตูนในแบบเรียน/ ใบงาน เด็ก ๆ จะสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับชีวิตประจำวันได้ บางครั้งเด็ก ๆ จะมองเห็นอะไรบางอย่างที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็น เช่น รูปภาพต้นมะพร้าว ผู้ใหญ่ก็คิดแค่ว่า มันคือต้นมะพร้าว แต่เด็ก ๆ จะคิดไปไกลกว่านั้นอีก เช่น ต้นมะพร้าวมีลูกมะพร้าว มีสัตว์อะไรอยู่บนต้นมะพร้าว ฯลฯ เกิดการคิดเป็นกระบวนการ รักการอ่าน การเขียน

          8) นางกุสุมา นวพันธ์พิมล ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ในปัจจุบันกระทรวงมีความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับในประเทศมีการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในเรื่องของการศึกษา ส่วนในต่างประเทศมีความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นในกรอบของ ASEAN, SEAMEO และUNESCO ในส่วนโครงการนี้เนื่องจากศูนย์ SEAMEO STEM-ED เป็นศูนย์หนึ่งที่ตั้งขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการในการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โครงการนี้ทำให้เรามองเห็นว่าการพัฒนาเด็กไม่ใช่การพัฒนาในช่วงปลายแต่ต้องพัฒนาตั้งแต่แรกเกิดและพัฒนามาเรื่อย ๆ ซึ่งเด็กจะรู้จักคิดและวิเคราะห์ โครงการนี้นับว่าเป็นโครงการที่สำคัญด้วยความร่วมมือกับ Chevron ภาคีเครือข่ายที่สำคัญมากที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านนี้ และยังจะส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

Picture Books3 15 6 2566

2. การนำเสนอผลการวิจัย “การใช้หนังสือภาพเพื่อเสริมสร้างความคิดอย่างมีวิจารณญาณและการอ่านอย่างมีความหมาย”

ดร.กฤตภาส วงค์มา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และคุณเยาวลักษณ์ จิตตะโคตร์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและประเมินผล ศูนย์ SEAMEO STEM-ED ได้กล่าวสรุปผลการวิจัยพบว่า

1) ปัจจัยที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ
- นักเรียน คือ หัวใจของความสำเร็จ
- เพื่อน เวลาเด็ก ๆ ทำกิจกรรม จะทำร่วมกันเป็นกลุ่ม เขาได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน
- ตัวครูเอง เพราะครูที่ผ่านการคัดเลือกมา มีความหลงใหล (passion) มากพออยู่แล้ว มีครูบัดดี้ที่ช่วยปลอบปะโลม จิตใจ ช่วยเหลือกันอย่างกัลป์ยาณมิตร รวมทั้งมีผู้อำนวยการ ที่ให้การสนับสนุน
- กลยุทธ์การอ่าน เช่น เทคนิคการอ่านออกเสียงจากบทความที่ให้ (Read Aloud) การทำ Timeline การตั้งคำถามชวนคิด และการเป็นตัวแบบคิดดัง ๆ
- หนังสือภาพ ต้องมีสีสันสดใส เริ่มต้นด้วยความตื่นเต้น อยากอ่าน อยากคิดต่อ ติดตาม

2) พฤติกรรมของครู/นักเรียนที่เปลี่ยนไป
- ครูใช้คำว่า Timeline จัดลำดับความสำคัญของเหตุการณ์
- กลยุทธ์ที่ครูใช้ดีขึ้นกว่าเดิม ให้นักเรียนได้คิด หาคำตอบ
- การให้นักเรียนได้เชื่อมโยงเรื่องราว
- ครูไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะเด็กที่เรียนรู้ช้า หนังสือภาพ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการยอมรับจากเพื่อน แม้เขาจะเขียนไม่ได้ แต่สามารถวาดภาพได้
- ภาพรวมเด็ก ๆ ชอบ เรื่อง แม่ไก่ไปเดินเล่น งานแรกของมี้จัง ดินแดนของเจ้าตัวร้าย เด็กชาย ชอบแม่ไก่ไปเดินเล่น เด็กหญิงชอบงานแรกของมี้จัง
- มุมมองของนักเรียนต่อการเรียนหนังสือภาพ ได้แก่ 1) ช่วยให้ค้นพบตัวเอง 2) เรียนวิชาอื่นได้ดีขึ้น 3) ตีความเรื่องราวได้ขึ้น 4) เชื่อมโยงความคิดกับชีวิตประจำวัน 5) คิด วิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

 

3. กิจกรรมห้องเรียนหนังสือภาพสำหรับครอบครัวและชุมชน: พื้นที่เรียนรู้ไม่มีวันปิดเทอม ณ ชุมชนม่วงงาม จังหวัดสงขลา

          นายประทีป จันทบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองม่วงงาม จังหวัดสงขลา ได้กล่าวต้อนรับคณะทำงานโครงการ Picture Books และมีการจัดกิจกรรมการอ่านในพื้นที่ โดยแบ่งการทำกิจกรรมการสอนโดยใช้หนังสือภาพแก่คนในชุมชน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1: เด็กระดับประถมศึกษาตอนต้น (หนังสือเรื่องงานแรกของมี้จัง) โดย ครูอรวรรณ โสสะ โรงเรียนวัดโลกา จังหวัดสงขลา ครูญาณูดา อรน้อม โรงเรียนวัดโลกา จังหวัดสงขลา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ป. 1-4 และกลุ่มเด็กโต จะจัดกิจกรรม Read Aloud 1-2 รอบ และเน้นให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยตั้งคำถามเพื่อให้เด็กวาดภาพเหตุการณ์ ต่อกันเป็น Timeline ของห้อง

กลุ่มที่ 2: เด็กระดับประถมศึกษาตอนปลาย (หนังสือเรื่องทำไมปล่อยให้ที่นี่เละเทะขนาดนี้) โดย ครูร่มบล สามะเนียะ โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านแหลมทราย จังหวัดสงขลา ครูกัซซี ดวงจินดา โรงเรียนเทศบาล 4 บ้านแหลมทราย จังหวัดสงขลา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เด็กเล็กกับเด็กโต โดยรอบแรกจะอ่านให้ฟัง ชวนคุย และเด็กโต จะให้ช่วยกันเขียนข้อคิดว่าจะช่วยกันรักษาความสะอาดอย่างไร

กลุ่มที่ 3: ผู้ปกครองและบุตร กลุ่มแม่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจาหมู่บ้าน (หนังสือเรื่องแม่ไก่ไปเดินเล่น) โดย ดร.รังรอง สมมิตร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ครูอรทัย ด้วงคง โรงเรียนวัดพระพิเรนทร์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร

Picture Books4 15 6 2566

          สำหรับการดำเนินการในอนาคต ศูนย์ SEAMEO STEM-ED จะได้มีการนำไปขยายผลในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับศูนย์อื่น ๆ ขององค์การซีมีโอ โดยปัจจุบันได้มีการพิจารณาร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นและชิลี เพื่อศึกษาการใช้สมุดภาพระบายสีในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ ในการเรียนการสอน และจะดำเนินการในระยะที่ 2 ต่อไป โดยในส่วนของประเทศไทย จะมีการขยายผลไปยังโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคายและจังหวัดสงขลา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐานโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 จะนำไปขยายฐานโรงเรียนนำร่องเพิ่มเติมในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาต่อไป

          สามารถรับชมรายการวันใหม่วาไรตี้ ออกอากาศ ช่อง Thai PBS ตอน “หนังสือภาพ” เครื่องมือสอนเด็ก ช่วยคิดอย่างมีวิจารณญาณ ได้ทาง Youtube https://youtu.be/tfthWbuwzIs

สรุป/เรียบเรียง : พงศกร รุทระวณิช
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
15 มิถุนายน 2566