Loading color scheme

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น

new1

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น โดยเป็นการจัดประชุมแบบผสมผสาน ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) รายงานผลการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนฯ 2) ระดมความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการจัดโครงการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนฯ 3) บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศและต่างประเทศ และพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่องสำหรับถอดบทเรียนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย  นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

c2

ประธานได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการปัญหาเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นว่าเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้กลับเข้าเรียน จบแล้วสามารถมีงานทำ โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ประเทศไทยได้ให้การับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น เมื่อปี 2559 ภายใต้แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ซึ่งผ่านที่ประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อปี 2562 ประเทศไทยก็ได้มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การพัฒนาและผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการศึกษาในอาเซียนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาในภูมิภาคของประเทศไทยภายใต้ประเด็นสำคัญของอาเซียน รวมถึงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น โดยได้มีการบูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงาน กศน. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป. กองส่งเสริมและพัฒนาการบริหารการศึกษาในภูมิภาค สป. โดยมีการดำเนินการบูรณาการการดำเนินงานผ่านจังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี พังงา ปัตตานี ตาก ตรัง สงขลา นครพนม อุบลราชธานี และจะดำเนินการต่อเนื่องในจังหวัดราชบุรี นครราชสีมา สระแก้ว เชียงใหม่ น่าน และบึงกาฬ

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันในการจัดการประชุมเพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดนครพนม ซึ่งมีการจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กตกหล่นเป็นศูนย์ โดยใช้นครพนมโมเดล และกาญจนบุรี ที่มีการจัดการ 1 สถานศึกษา 3 ระบบ (ในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย) เพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น โดยการลงพื้นที่เพื่อไปศึกษาบริบทการดำเนินงาน และถอดบทเรียน โดยจะร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งยูเนสโก ยูนิเซฟ และซีมีโอ เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านศึกษาของอาเซียน ในปี 2567 ต่อไป

ข้อมูล : รุ่งกานต์ พันธุ์ภักดี
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
28 เมษายน 2566