Loading color scheme

การประชุมคณะกรรมการฝ่ายสังคมศาสตร์ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 1/2566

unesco11 31 3 2566

          เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายสังคมศาสตร์ของคณะกรรมการแห่งชาติฯ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการประชุมจัดในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) มีคณะกรรมการฯ และผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งในสถานที่และทางออนไลน์

unesco14 31 3 2566

          ที่ประชุมฯ ได้รับทราบเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศ/ระหว่างรัฐบาลฯ ภายใต้สาขาสังคมและมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะคณะกรรมการที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นกรรมการในวาระปี 2562 – 2566 คือ 1) คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม (International Bioethics Committee หรือ IBC) โดยผู้แทนคือ ศาสตราจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ 2) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยชีวจริยธรรม (Intergovernmental Bioethics Committee หรือ IGBC) และ 3) คณะกรรมการสภาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Intergovernmental Council of the Management of Social Transformations Programme หรือ IGC of MOST Programme) โดยผู้แทนคือ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ซึ่งผู้แทนของไทยได้เข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด รวมถึงการเป็นภาคีอนุสัญญานานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในการกีฬา (International Convention Against Doping in Sport) โดยสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามในการกีฬา สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานดำเนินการภายใต้อนุสัญญาฯ และเข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและระหว่างประเทศตามโอกาส รวมถึงการสนับสนุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเสนอโครงการจัดตั้ง UNESCO Chair in Resource Governance and Futures Literacy ที่องค์การยูเนสโกได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

unesco15 31 3 2566

          ที่ประชุมฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาการดำเนินการส่งเสริมภารกิจภายใต้สาขาสังคมและมนุษยศาสตร์ ได้แก่ (1) โครงการการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (MOST Programme) โดยได้พิจารณาการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยโครงการการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อให้การดำเนินการด้าน MOST Programme ของประเทศไทยมีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมที่จะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ MOST ของยูเนสโก ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ที่จะแต่งตั้งตามคำสั่งใหม่พิจารณาการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป และ (2) การดำเนินการเกี่ยวกับข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) ที่รัฐสมาชิกยูเนสโกได้ให้การรับรองเมื่อปลายปี 2564 ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่าประเด็นจริยธรรมด้านปัญญาประดิษฐ์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างกว้างขวางและมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน จึงเห็นควรมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาจัดการประชุมหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการดำเนินการร่วมกันในระดับประเทศต่อไป

สรุป / เรียบเรียง : ศิริพร วิริยะอัครเดชา
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มงานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
31 มีนาคม 2566