Loading color scheme

สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกสนับสนุนความร่วมมือด้านสังคมศาสตร์กับยูเนสโก

unesco 3 2 2566

          นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้การต้อนรับ นาย Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น.ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางสาวสุปราณี คำยวง รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสาวจิตรลดา จันทร์แหยม ผู้อำนวยการกลุ่มงานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

unesco1 3 2 2566

          นาย Shigeru  Aoyagi ได้กล่าวแสดงความยินดีกับรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่เข้ารับตำแหน่งในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ มาโดยตลอด ทั้งในเรื่องอาคารที่ตั้งของสำนักงาน ฯ และการดำเนินโครงการ/กิจกรรมภายใต้กรอบยูเนสโก สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) เป็นสำนักงานระดับภูมิภาคด้านการศึกษาที่ดูแลการดำเนินงานของประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกกว่า 40 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงประเทศในอนุภูมิภาค ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา และไทย โดยขณะนี้ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กำลังดำเนินโครงการนำร่อง Education in Emergency ซึ่งได้รับงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเด็กเยาวชนข้ามชาติ รวมทั้งผู้ลี้ภัยสงครามที่จังหวัดตาก ให้เข้าถึงการศึกษา สื่อ ICT และความช่วยเหลือด้านอาหารและความเป็นอยู่ที่จำเป็นเพื่อป้องกันการถูกละเมิดต่างๆ โครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน โดยจะดำเนินการต่อยอดจากกิจกรรมที่ทางยูเนสโกได้ดำเนินการอยู่กับศูนย์ประสานงานการศึกษาเด็กต่างด้าว สพป. ตาก เขต 2

unesco2 3 2 2566

          ในโอกาสนี้ นาย Shigeru  Aoyagi ได้แนะนำนาย Phinith Chanthalangsy ซึ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ โดยได้นำเสนอและกล่าวสรุปการดำเนินงานในสาขาสังคมศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการรับมือกับปัญหาท้าทายทางสังคมในปัจจุบัน ทั้งนี้ สาขาสังคมศาสตร์มุ่งส่งเสริมการใช้ความรู้ให้เกิดการเปลี่ยนแลงทางสังคมและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตระหนักถึงปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันเพื่อลดการเลือกปฏิบัติ งานด้านสังคมศาสตร์ของยูเนสโกครอบคลุมหลากหลายหัวข้อ อาทิ การส่งเสริมการกีฬาและพลศึกษาเพื่อการเข้าถึงกิจกรรมทางร่างกายอย่างเท่าเทียมและการต่อต้านการใช้สารกระตุ้น การส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมบทบาทของเยาวชนให้มีส่วนร่วมเชิงนโยบายในระดับต่างๆ การสร้างความเข้มแข็งเรื่องจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้มีมติรับรองข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) เพื่อส่งเสริมให้มีการกำหนดประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับระบบปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

unesco3 3 2 2566

          อนึ่ง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ และบทบาทของเยาวชน รวมถึงส่งเสริมด้านการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้สิทธิการศึกษาอย่างทั่วถึง รวมทั้งเด็กข้ามชาติ อีกทั้งมีความยินดีให้ความร่วมมือกับยูเนสโก ในสาขางานด้านสังคมศาสตร์และอื่นๆ ต่อไป

สรุป/เรียบเรียง : รัชนินท์  พงศ์อุดม
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มงานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
3 กุมภาพันธ์ 2566