Loading color scheme

สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกไทยและสาธารณรัฐเกาหลีกระชับความร่วมมือ ภายใต้กรอบงานของยูเนสโก

korea 9 6 2565

          เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 14.30 น. Dr. Kyung Koo Han เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) สาธารณรัฐเกาหลี ได้เข้าพบหารือกับ นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ ห้อง Valley 1 โรงแรมแชงกรี – ลา กรุงเทพมหานคร ในโอกาสที่ Dr. Kyung Koo Han ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 (2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference on SDG4-Education 2030 (APREMC-II) ระหว่างวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมแชงกรี – ลากรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ

korea1 9 6 2565

          ในการเข้าหารือกับสำนักเลขาธิการฯ ของไทยครั้งนี้ เพื่อกระชับและสร้างความเข้มแข็งด้านความร่วมมือภายใต้กรอบยูเนสโกของทั้งสองประเทศ โดยที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการฯ ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีมีความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมและโครงการมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ได้แก่

korea2 9 6 2565

          - โครงการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระหว่างสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Exchange Programme for the Staff Members of the National Commissions for UNESCO) เป็นการดำเนินโครงการในลักษณะต่างตอบแทนเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการฯ จากประเทศสมาชิกยูเนสโกที่เข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและสามารถศึกษาเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับองค์ประกอบ การบริหารงาน และกิจกรรมของคณะกรรมการแห่งชาติฯ ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับองค์การในระหว่างประเทศสมาชิกของยูเนสโก รวมถึงส่งเสริมงานด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้โครงการต้องหยุดชั่วคราว หากสถานการณ์ดีขึ้น สำนักเลขาธิการฯ มีความยินดีที่จะสานต่อโครงการอีกครั้งร่วมกัน

korea4 9 6 2565

          - โครงการร่วมระหว่างสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Joint Project of National Commission for UNESCO in East and Southeast Asia) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสำนักเลขาธิการฯ สาธารณรัฐเกาหลี ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการดังกล่าวมีสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มองโกเลีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เกาหลี ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ การจัดทำข้อมูลพื้นฐานและสำรวจประเด็นที่สำนักเลขาธิการฯ แต่ละประเทศมีร่วมกัน และการจัดทำการศึกษาเชิงลึกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามประเด็นที่สำนักเลขาธิการฯ ในภูมิภาคเห็นพ้องร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายของโลกในอนาคต โดยการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการที่สนับสนุน Future of Education Initiative ผ่านโครงการเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติของยูเนสโก (Associated Schools Project Network: ASPnet)

korea3 9 6 2565

          - โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนในสถานศึกษาภายใต้เครือข่ายโครงการการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ (Associated School Project Network - ASPnet) ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทยและเกาหลี และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการประชุมทางไกล โดยเชื่อมโยงกับหัวข้อหลักของยูเนสโก ได้แก่ สันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นพลเมืองโลก ดำเนินโครงการในลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของแต่ละฝ่าย ครู/อาจารย์ของแต่ละฝ่ายร่วมกันออกแบบบทเรียนให้เหมาะสมกับระดับการศึกษาของผู้เรียน และการจัดชั้นเรียนออนไลน์ร่วมกับนักเรียนเกาหลีผ่านการประชุมทางไกล เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสะท้อนความคิดผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเมื่อปี 2563 สำนักเลขาธิการฯ สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับสำนักเลขาธิการฯ ไทย ดำเนินโครงการระยะสั้นเป็นเวลา 2 เดือน (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2563) มีโรงเรียน ASPnet ของไทยและเกาหลีเข้าร่วมโครงการจำนวน 9 คู่ และไทยมีความยินดีที่จะสนับสนุนโรงเรียนในเครือข่าย ASP ของไทยเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายโรงเรียน ASP ของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีศักยภาพด้านการศึกษาหลากหลายภายใต้หัวข้อที่สำคัญของยูเนสโก รวมถึงข้อริเริ่มโครงการ Co-Teaching ซึ่งสำนักเลขาธิการฯ สาธารณรัฐเกาหลีประสงค์จะเชิญประเทศไทยเข้าร่วมโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพครูในด้านการใช้เทคโนโลยีสำหรับการเรียนการสอนในอนาคตต่อไป

สรุปและเรียบเรียง: พนิดา ทวีลาภ
รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
9 มิถุนายน 2565