Loading color scheme

รมว. ศธ. ร่วมหารือ “การฟื้นฟูการเรียนรู้และการจัดการวิกฤตการเรียนรู้” ในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ระหว่างการประชุม APREMC II

N apremc 9 6 2565

          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtables) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ระหว่างเวลา 15.00-17.15 น. ในหัวข้อ “การปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตของเราในเอเชีย-แปซิฟิก” ร่วมกับรัฐมนตรีด้านการศึกษาจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ มองโกเลีย คีร์กีซสถาน ปาปัวนิวกีนี บังคลาเทศ กัมพูชา ฟิจิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อุซเบกิสถาน เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งการประชุมโต๊ะกลมดังกล่าวเป็นการประชุมคู่ขนานระหว่างการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 (2nd Asia-Pacific Regional Education Minister’s Conference: APREMC II) มีการแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่มเพื่อหารือใน 2 หัวข้อ ได้แก่ 1) การฟื้นฟูการเรียนรู้และการจัดการวิกฤตการเรียนรู้ และ 2) การปฏิรูประบบการศึกษา

apremc 1 8 6 2565

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เข้าร่วมการประชุมในหัวข้อ “การฟื้นฟูการเรียนรู้และการจัดการวิกฤตการเรียนรู้” มีการหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้อง 3 ประเด็น ได้แก่
          1. การเปิดการเรียนการสอนอย่างปลอดภัยและรักษาจำนวนนักเรียนไว้ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะร่วมกันในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว เช่น การทำให้แน่ใจว่าสถานศึกษาจะสามารถกลับมาเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย จัดตั้งระบบค้นหาและสนับสนุนกลุ่มผู้เรียนที่มีความเปราะบาง สร้างช่องทางที่หลากหลายให้ผู้เรียนสามารถกลับมาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้การสนับสนุนทางจิตใจแก่ครูและนักเรียนในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤต

apremc 4 8 6 2565
          2. การฟื้นฟูการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีการพิจารณาการฟื้นฟูการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19 หรือผู้เรียนที่ประสบปัญหาอื่น ๆ แล้วหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ยังควรต้องให้การสนับสนุนครูภารกิจของครูในการฟื้นฟูการเรียนรู้ การวัดผลระดับการเรียนรู้และการสูญเสียการเรียนรู้ของผู้เรียน

apremc 5 8 6 2565
          3. การจัดสรรเงินงบประมาณด้านการศึกษาที่เพียงพอและมีความเท่าเทียม ซึ่งให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านการเงินโดยศึกษาตัวอย่างจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อป้องกันการสูญเสียเงินงบประมาณ ด้านการศึกษาของประเทศให้แก่ภาคส่วนอื่นและหาวิธีการเพิ่มเงินงบประมาณด้านการศึกษาให้เพียงพอต่อ ความต้องการ เพิ่มงบประมาณที่นำไปใช้ด้านการศึกษาโดยพิจารณาจากความเท่าเทียมและความยากจน ของผู้เรียนเป็นหลัก รวมถึงการปรับปรุงดูแลการนำงบประมาณไปใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

apremc 2 8 6 2565

          รมว. ศธ.นำเสนอแนวทางการฟื้นฟูและจัดการวิกฤตการเรียนรู้ของไทย “ในระหว่างช่วงวิกฤตโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ระบบการศึกษาทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางทำให้ต้องมีการปรับตัวและออกแบบระบบการศึกษาใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และโลกในยุคหลังโควิด สำหรับในประเทศไทยได้มีการนำแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบทางไกลมาปรับใช้ในสถานศึกษา โดยได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนไว้ 5 รูปแบบ ตามบริบท และความเหมาะสมของสถานศึกษา ได้แก่ การจัดการศึกษาแบบ 1) On-Air 2) Online 3) On-Demand 4) On-Hand และ 5) On-Site ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนแบบ On-Site มากที่สุดเพราะเชื่อว่าผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าว จึงได้มุ่งเน้นมาตรการที่สนับสนุนการกลับมาเปิดเรียนอย่างปลอดภัย เช่น การจัดสรรวัคซีนโควิดให้แก่สถานศึกษาอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ในปัจจุบัน ครูกว่า 97% และนักเรียนกว่า 80% ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้มีการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการกลับมาเปิดสถานศึกษาอย่างปลอดภัย อาทิ โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งได้มีการดำเนินการพร้อมกับการกลับมาเปิดเรียนของสถานศึกษา การจัดห้องเรียนเสริมเพื่อเติมเต็มช่องว่างในการเรียนรู้สำหรับช่วงเวลาที่ปิดเรียนเนื่องจากสถานการณ์โควิด โครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนด้วย การจัดการเรียนการสอนทักษะที่จะเป็นในการทำงานจริงและที่พักให้ฟรีแก่เยาวชน การจัดการเรียนรู้เชิงรุก รวมถึงศูนย์ความปลอดภัย MOE Safety Center เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักเรียน ในสถานศึกษา เป็นต้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่จะร่วมมือกับยูเนสโกในการจัดการศึกษาและเสริมทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันได้”

apremc 3 8 6 2565

          ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและข้อเสนอแนวทางจากการเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี จะนำไปสู่การจัดทำถ้อยแถลงกรุงเทพ ฯ ปี พ.ศ. 2565 (Bangkok Statement 2022) มุ่งสู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสำหรับทุกคนและการพลิกโฉมการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอด เพื่อการปรับเปลี่ยนทางการศึกษา ซึ่งสำนักเลขาธิการสหประชาชาติจะจัดขึ้นที่นครนิวยอร์กในเดือนกันยายน 2565 ต่อไป

apremc 6 8 6 2565

สรุปและเรียบเรียง: พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
ฐิติ ฟอกสันเทียะ
ในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการประชุม APREMC II
รายงานโดย: กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
7 มิถุนายน 2565