Loading color scheme

เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

Germany 14 12 2564

          เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เวลา 11.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้การต้อนรับนายเกออร์ก ชมิดท์ (H.E. Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย พร้อมด้วย ดร. อเล็กซานเดอร์ เราโบลด์ (Dr. Alexander Raubold) ที่ปรึกษาทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ดร. โรแลนด์ ไวน์ (Dr. Roland Wein) ผู้อำนวยการบริหารหอการค้าเยอรมัน-ไทย และนายมาร์คุส ฮอฟฟ์แมนน์ (Mr. Markus Hoffmann) ผู้อำนวยการโครงการเยอรมัน-ไทย เพื่อความเป็นเลิศในการศึกษาทวิภาคี (German-Thai Dual Excellence Education: GTDEE) ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ณ ห้องดำรงราชานุภาพ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้าร่วมการหารือฯ ด้วย

Germany2 14 12 2564

          เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีฯ กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการระทรวงศึกษาธิการที่ได้สละเวลาให้เข้าพบหารือในครั้งนี้ และกล่าวถึงการดำเนินงานด้านอาชีวศึกษาทวิภาคี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล หอการค้าเยอรมัน-ไทย และสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมนี้ได้กล่าวถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนได้ตามปกติและพลาดโอกาสในการเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงนับว่าเป็นความท้าทายของครูในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ดังกล่าว โอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้มอบหนังสือแบบเรียนทฤษฎีเมคคาทรอนิกส์ (German Apprenticeship Textbook on Mechatronics) ซึ่งจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกโดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในการแปลจากภาษาเยอรมัน หนังสือแบบเรียนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานระดับกลางที่ไม่ได้มีพื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรมมาก่อน

Germany1 14 12 2564

          ผู้อำนวยการบริหารหอการค้าเยอรมัน-ไทย กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดการศึกษาทวิภาคี ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 โดยผู้เรียนจะได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 3 - 4 วันต่อสัปดาห์และเข้าเรียนในชั้นเรียนตามหลักสูตรของสถาบัน 1 – 2 วันต่อสัปดาห์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรจากหอการค้าเยอรมัน-ไทย หรือสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเยอรมนี อีกทั้งยังได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับผู้ฝึกสอน (Trainer) และครู รวมทั้งการประกันคุณภาพสถาบันอาชีวศึกษาด้วย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะมีสถานประกอบการไทยและเยอรมนี และสถาบันอาชีวศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงแผนการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนทฤษฎีเมคคาทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ฉบับ เพื่อกระจายไปยังสถาบันอาชีวศึกษาได้อย่างทั่วถึง และจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการอาชีวศึกษาเพื่อตอบสนองนโยบายประเทศไทย 4.0 จึงประสงค์ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการดังกล่าว

Germany3 14 12 2564

          ผู้อำนวยการโครงการ GTDEE กล่าวถึงการริเริ่มใช้หนังสือแบบเรียนทฤษฎีเมคคาทรอนิกส์ครั้งแรกที่วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) จังหวัดชลบุรี โดยผู้เรียนจะได้รับความรู้ทางเทคนิค และได้ปฏิบัติงานจริงตามขั้นตอนที่ระบุหนังสือแบบเรียนฯ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic learning) การดำเนินการนำร่องที่วิทยาลัย อี.เทค ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และ GTDEE ยังได้ขยายการดำเนินการในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้หนังสือแบบเรียนทฤษฎีเมคคาทรอนิกส์ไปยังวิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโกด้วย

Germany4 14 12 2564

          โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ พร้อมทั้งชื่นชมฝ่ายเยอรมันที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาการอาชีวศึกษาของไทย และจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนทฤษฎีเมคคาทรอนิกส์ฉบับภาษาไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษาด้วยเช่นกัน จึงยินดีให้ความร่วมมือกับฝ่ายเยอรมันอย่างเต็มที่ โดยเสนอให้จัดการประชุมหารือในรายละเอียดกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต่อไป พร้อมทั้งได้เสนอให้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่หมดอายุเมื่อปี 2561 ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ ยินดีให้การสนับสนุนโดยเห็นว่าจะเป็นโอกาสอันดีในการเฉลิมฉลองครบรอบ 160 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนี ในปี 2565 นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาเปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเห็นผลลัพธ์ ในขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ รวมทั้งปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพ และในส่วนของการพัฒนาครู จะมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการสอนของครูให้สอดคล้องกับเนื้อหาของหลักสูตรด้วย เช่น การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active learning) และการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based learning)

สรุปและเรียบเรียง : กุณฑิกา พัชรชานนท์
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
เครดิตภาพ : สำนักงานรัฐมนตรี
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 8 ธันวาคม 2564