Loading color scheme

รมว. ศธ. หารือความร่วมมือด้านการศึกษากับ OECD

OECD 12 11 2564

          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือกับ Mr. Andreas Schleicher ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและทักษะ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในช่วงเวลาที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญ ของยูเนสโก ครั้งที่ 41 โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส นายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม รองผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก และนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ กรรมการในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

OECD1 12 11 2564

          ในโอกาสนี้ ดร. ชไลเชอร์ ได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ให้โอกาสเข้าพบเพื่อหารือเรื่องความร่วมมือระหว่างองค์การ OECD กับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นรองประธานในคณะกรรมการบริหารโครงการ PISA และมีความร่วมมือเป็นอย่างดีกับ OECD มาโดยตลอด ทั้งนี้ OECD แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่กำลังดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (competency-based curriculum) ซึ่ง OECD ยินดีที่จะสนับสนุนประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะการวัดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาผลทดสอบ PISA ของนักเรียนไทย นอกจากนี้ ดร. ชไลเชอร์ เสนอว่าในปีหน้า หากประเทศไทยจะพิจารณารับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการ PISA อาจจะเป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนไทยมีระดับคะแนน PISA ที่ดีขึ้น

OECD2 12 11 2564

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวขอบคุณ ดร ชไลเชอร์ที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานด้านการวัดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไทยด้วยดีมาโดยตลอด สำหรับการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการดำเนินการที่มุ่งหวังในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก และการปรับหลักสูตรครั้งนี้ ได้ดำเนินการทั้งระบบ รวมทั้งการวัดผลด้วยเช่นกัน โดยได้ดำเนินการในโรงเรียนนำร่องกว่า 300 โรง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในด้านหลักสูตรทางการศึกษาที่ตอบสนองต่อความถนัดและความสนใจของผู้เรียนรายบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่แผนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ต่อไป ทั้งนี้ประเทศไทยยินดีที่จะพัฒนาความร่วมมือดังกล่าวกับ OECD ในการนี้ ดร. ชไลเชอร์ จะนำประเด็นจากการหารือครั้งนี้ ไปหารือกับภาคีเครือข่ายคือ ยูนิเซฟ และพัฒนาโครงการนำเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาต่อไป

OECD3 12 11 2564

สรุปและเรียบเรียงโดย : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
12 พฤศจิกายน 2564