Loading color scheme

แปลสรุป จากรายงานเรื่อง“Issues and Trends in Education for Sustainable Development” บทที่ 1 “จากวาระที่ 21 สู่เป้าประสงค์ที่ 4.7 : การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

Issues

แปลสรุป จากรายงานเรื่อง“Issues and Trends in Education for Sustainable Development” บทที่ 1 “จากวาระที่ 21 สู่เป้าประสงค์ที่ 4.7 : การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
โดย Alexander Leicht, Bernard Combes, Won Jung Byun, Adesuwa Vanessa Agbedahin

         การรับรองวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ก่อให้เกิดแรงผลักดันใหม่ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึง ความพยายามอย่างแรงกล้าในการจัดโปรแกรมการศึกษาระดับสากล ด้วยการรับรองเป้าหมายที่ 4 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยมุ่ง “สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต” เป้าประสงค์ที่ 4.7 ของเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา นับเป็นหนึ่งในบรรดาเป้าหมายที่ได้รับการยอมรับว่ามีความท้าทาย น่าสนใจ และต้องทุ่มเทความพยายามอย่างมากที่สุด เพื่อให้ “ภายในปี 2030  ผู้เรียนทุกคนจะได้รับความรู้ และทักษะที่จำเป็นต่อการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคหญิงชาย  สันติวัฒนธรรม และการไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองโลก ความชื่นชมต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และวิถีชีวิตแบบยั่งยืน”
        นอกจากนี้ การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมคณะกรรมการที่ 2 ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ที่ได้รับรองข้อมติเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ย้ำว่าการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นกุญแจหลักสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
    วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งได้ผ่านการรับรองเมื่อปี 2015  ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาในปี 2016 รายงานการประเมินผลการศึกษาระดับโลก ได้ย้ำความสำคัญของการศึกษาเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 15 ปี ว่า “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการดำเนินการเป็นสิ่งที่มีความเป็นสากล ไม่สามารถแบ่งแยกได้ และต้องเชื่อมโยงกัน โดยในแต่ละเป้าหมายทั้ง 17 ประการ ได้มีการกำหนดชุดเป้าประสงค์ที่ต้องดำเนินการ   โดยมีอย่างน้อย 1 เป้าประสงค์ ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้การให้ความรู้ การฝึกอบรม หรือการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การศึกษานับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม สร้างความยั่งยืน และความอยู่ดีกินดีของมนุษย์ (GEM report 2016: p.9, UNESCO, 2016a)
         รายงาน ฯ ยังได้เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนต่อการสร้างแนวทางใหม่ๆ ที่ให้ความสำคัญต่อข้อผูกพันระยะยาวในการบรรลุเป้าหมาย ที่ 4  และการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับการศึกษาโดยสิ้นเชิงในการเป็นพลังสู่การสร้างความอยู่ดีกินดีอยู่ดีของมนุษย์  และการพัฒนาโลก (UNESCO, 2016a). จึงอาจกล่าวได้ว่า ศักยภาพของการศึกษาในการเปลี่ยนแปลงโลกไม่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากจะได้มีการนำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนบรรจุไว้ในระบบการศึกษา

 

การศึกษาเกี่ยวข้องกับเป้าหมายอื่นๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร?
เป้าหมายที่ 1 การศึกษามีความสำคัญในการขจัดความยากจนของประชาชน
เป้าหมายที่ 2 การศึกษามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถทำไร่แบบยั่งยืน และ  เข้าใจในเรื่องโภชนาการ
เป้าหมายที่ 3 การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงการสาธารณสุขอย่างชัดเจน เช่น อัตราการตายของทารก อนามัยการเจริญพันธุ์ การแพร่กระจายโรค วิถีชีวิตที่แข็งแรง และความเป็นอยู่ที่ดี
เป้าหมายที่ 5 การศึกษาสำหรับสตรีและเด็กผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญต่อการรู้หนังสือ  ทักษะการมีส่วนร่วม และการได้รับโอกาสในชีวิต
เป้าหมายที่ 6 การศึกษาและการฝึกอบรมเป็นการเพิ่มทักษะและศักยภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน และการส่งเสริมสุขลักษณะ
เป้าหมายที่ 7 การจัดการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ สามารถส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการสร้างแหล่งทรัพยากรทดแทน
เป้าหมายที่ 8 พลังทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ ทักษะตลาดแรงงาน มีความเชื่อมโยงกับระดับการศึกษา
เป้าหมายที่ 9 การศึกษาจำเป็นในการสร้างทักษะที่จำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 10 เมื่อมีการจัดการศึกษาอย่างเท่าเทียม จะพบว่า การศึกษาสามารถลดความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจได้
เป้าหมายที่ 11 การศึกษาสร้างทักษะให้แก่ประชาชนในการสร้าง และพัฒนาเมืองที่มีความยั่งยืน และบรรเทาสถานการณ์ภัยพิบัติได้
เป้าหมายที่ 12 การศึกษาสามารถสร้างความแตกต่างของรูปแบบการผลิต (เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน)  รวมถึง ความเข้าใจของผู้บริโภคในการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน และลดความสิ้นเปลือง
เป้าหมายที่ 13 การศึกษาเป็นกุญแจไขความเข้าใจให้แก่มวลชนต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัว โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น
เป้าหมายที่ 14 การศึกษาสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล และฉันทามติในการใช้ทรัพยากร ฯ อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน
เป้าหมายที่ 15 การศึกษาและการฝึกอบรมเพิ่มทักษะและศักยภาพในการวางรากฐานชีวิตที่ยั่งยืน  อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายชีวภาพ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่ถูกคุกคาม
เป้าหมายที่ 16 การเรียนรู้ทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมที่ยุติธรรม ครอบคลุมทุกคน การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึง ความสามัคคีในสังคม
เป้าหมายที่ 17 การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นการส่งเสริมความเข้าใจ นโยบาย และการปฏิบัติของการพัฒนาที่ยั่งยืน

         

         ในปัจจุบัน ได้มีการบูรณาการเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในกรอบและอนุสัญญาโลกว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญ เช่น มาตราที่ 13 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และโครงการที่เกี่ยวข้อง  กรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ ปี 2005-2015 : การสร้างพลังเข้มแข็งของชาติและชุมชนต่อภัยพิบัติ และกรอบการลดภัยพิบัติเซนได ปี 2015-2030 :  วิถีชีวิตอย่างยั่งยืน และโครงการการศึกษาภายใต้กรอบงาน 10 ปี เพื่อการบริโภคอย่างยั่งยืน และผลผลิต 2012-2021 มาตราที่ 6 ของอนุสัญญากรอบสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตราที่ 11 และ 12 ของข้อตกลงปารีส

การบูรณาการการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในการศึกษา
         การสนับสนุนเชิงนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีมากขึ้น เป็นผลมาจากการเพิ่มความใส่ใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องการศึกษาที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับแนวโน้มที่มุ่งความสนใจไปสู่เนื้อหาการศึกษาที่ตอบสนองความท้าทายในปัจจุบัน ที่กว้างกว่าการเข้าถึงการศึกษา และทักษะพื้นฐาน  
        

         หลายปีมาแล้ว ที่จุดเน้นในการพัฒนาการศึกษาของโลก ได้มุ่งไปสู่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อปวงชน เป้าหมายที่ 2 ของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เรื่องการประถมศึกษาสากล (UN 2015) และการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน  (ปี 2000-2015) จากหลักการที่กล่าวว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานและนำมาซึ่งสิทธิมนุษยชน ได้ย้ำความสำคัญของข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  นอกจากนี้ นานาประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการรู้หนังสือ และการคิดคำนวณ และจะยังคงทุ่มเทความพยายามในเรื่องดังกล่าว ต่อไป


         อย่างไรก็ตาม ในโลกที่มีซับซ้อน และเชื่อมโยงมากขึ้น และประสบกับภัยคุกคาม  เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ความต้องการที่จะได้รับการศึกษา จึงมีมากไปกว่า การแสวงหาความรู้และทักษะเพื่อการมีงานทำ ย่อมเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การศึกษาไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่แนวคิดในเรื่องการเรียน การสอน ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยให้บุคคลเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ความคิดในเรื่องนี้ปรากฏในเป้าหมายที่ 6 ของกรอบปฏิบัติการดาการ์ว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน (2000)  ว่าด้วยการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกมิติ (UNESCO, 2000) ข้อผูกพันในเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชนเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับวาระการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีการหารือในระหว่างการประชุมโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2002  จนนำไปสู่การประกาศทศวรรษการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (2005-2014) ที่ได้เปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ไปสู่การตอบสนองต่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 องค์ประกอบสำคัญของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNESCO 2005) จนถึงปัจจุบัน มีความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาเพื่อปวงชน และการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น รวมถึง ข้อผูกพันในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ การตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมคุณภาพชีวิต นอกเหนือจากนี้ ยังได้มุ่งประเด็นไปสู่การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ การตอบสนองความต้องการของการศึกษา และเน้นในเนื้อหามากขึ้น(UNESCO, 2008).

 
         ยูเนสโกได้นำเสนอเอกสารต่อที่ประชุมสมัยสามัญในปี 2013 ว่า “ยูเนสโกได้เน้นวิสัยทัศน์ด้านมนุษยธรรม และลักษณะองค์รวมของการศึกษาว่าเป็นพื้นฐานของการพัฒนาบุคคล รวมถึงเศรษฐกิจและสังคม วัตถุประสงค์ของการศึกษาเป็นไปเพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างพลังประชาชน ให้บรรลุความต้องการพื้นฐานของบุคคล ตอบสนองความคาดหวัง และนำไปสู่การบรรลุความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน และประเทศชาติ” (UNESCO 2013a).


         หนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านความสอดคล้องเนื้อหา ได้แก่ ข้อริเริ่มระดับโลกว่าด้วยการศึกษาต้องมาก่อน (Global Education First Initiative) ซึ่งประกาศโดยเลขาธิการสหประชาชาติ  เมื่อปี 2012 ข้อริเริ่มนี้มีความสำคัญ 3 ประการ คือ การให้เด็กทุกคนได้เข้าเรียน การพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ และการส่งเสริมการเป็นพลเมืองโลก เนื่องจากตระหนักว่า “การเข้าถึงการศึกษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ยังไม่เพียงพอ” ในการดำเนินการตามข้อริเริ่มดังกล่าว ยูเนสโกจึงได้จัดทำโครงร่างเรื่องการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเป็นพลเมืองโลกขึ้น  (UNESCO 2013b; UNESCO 2014a).


         ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของเนื้อหาการศึกษาในการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การมุ่งความสนใจไปที่ทักษะการถ่ายทอดความรู้ผ่านการทำงาน (transversal skills) ตัวอย่างเช่น คณะทำงานด้านการวัดการเรียนรู้ (The Learning Metrics Task Force)ซึ่งจัดตั้งโดยสถาบัน Brookings และสถาบันสถิติของยูเนสโก เมื่อปี 2015 ได้กล่าวถึงความต้องการได้รับทักษะที่มีความยืดหยุ่น  รู้จักปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการในศตวรรษที่ 21  เช่น ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสารและการจัดการความรู้ ความต้องการทักษะใหม่ๆ เช่น การแก้ไขปัญหาโดยอาศัยความร่วมมือ  นอกจากนี้  งานวิจัยที่ ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวกับทักษะทางอารมณ์-สังคม และกรอบการเรียนรู้การศึกษา 2030(OECD 2015; 2016) ได้แสดงแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเข้าถึงการศึกษา ไปสู่การให้ความสำคัญในเรื่องทักษะอารมณ์-สังคมเพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายโดยรวมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


         ในปี 2015 ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 รัฐสมาชิกได้รับรองวาระการพัฒนาโลก  เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโลกของเรา : วาระเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 (เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน)” เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จัดทำขึ้นแทนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ซึ่งเป็นชุดเป้าหมายระดับชาติ ภูมิภาค และโลก  เพื่อนำไปสู่หนทางแห่งความยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ แต่ความก้าวหน้ายังปรากฏเฉพาะในบางประเทศ และบางภูมิภาคเท่านั้น (Sachs, 2012). ประสบการณ์และบทเรียนในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของรัฐสมาชิกสหประชาชาติ เป็นแนวทางไปสู่วาระการพัฒนาภายหลังปี 2558 และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN, 2014).


    การรับรองเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา เป็นการย้ำบทบาทสำคัญของการศึกษาในการส่งเสริมความก้าวหน้าของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปฏิญญาอินชอนด้านการศึกษา ปี 2030 ได้กล่าวไว้ว่า “วิสัยทัศน์ของเราคือการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยการจัดการศึกษา การตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการศึกษาในฐานะเป็นแรงผลักดันหลักของการพัฒนา และการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Incheon Declaration, 2015). เป้าประสงค์ 7 ประการ และเป้าประสงค์สนับสนุน 3 ประการ ของเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษาเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพ การศึกษาที่ตอบสนองความต้องการ  และเนื้อหาการศึกษา ดังนั้นปฏิญญาอินซอนได้ย้ำเป้าประสงค์ที่ 4 ของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า “ได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์ด้านมนุษยธรรม และลักษณะที่เป็นองค์รวมของการศึกษา” แสดงให้เห็นว่าการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นส่วนประกอบสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพ

 

 

“การศึกษาที่มีคุณภาพทำให้เกิดความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างหลักประกันในการได้รับทักษะความรู้พื้นฐาน  ความสามารถในการคิดคำนวน รวมถึงการวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา และองค์ความรู้ระดับสูง ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ และทักษะทางสังคมและ นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาทักษะ ค่านิยม และทัศนคติซึ่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก จะช่วยให้ประชาชนมีชีวิตและสุขภาพที่สมบูรณ์ การตัดสินใจ และตอบสนองต่อความท้าทายในระดับท้องถิ่นและระดับโลกได้ ในเรื่องนี้ พวกเราขอสนับสนุนอย่างแรงกล้าต่อการดำเนินการตามโครงการแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้ประกาศในระหว่างการประชุมโลกด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก ที่เมือง Aichi-Nagoya เมื่อปี 2014 พวกเราขอย้ำความสำคัญของการศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการฝึกอบรมเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายหลังปี 2558” (World Education Forum, 2015: para 9)

 

ทศวรรษว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
         รากฐานของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับกระบวนการสองประการที่ได้กล่าวแล้ว คือ การบูรณาการการศึกษาไว้ในการพัฒนาที่ยั่งยืน และการบูรณาการการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในการศึกษา เป้าหมายเบื้องต้นสำหรับทศวรรษการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (2005-2014) ได้ถูกกำหนดไว้โดยมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่ 59/237 ตระหนักร่วมกันว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ได้ตกลงร่วมกันในระดับนานาชาติ เพื่อการบรรลุเป้าหมายอันเป็นสากลของผู้ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา” ยังคงสนับสนุน “ข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการประชุมครั้งที่ 11 ได้กำหนดให้การศึกษาเป็นประเด็นข้ามสาขาที่ต้องใช้เวลาทำงานระยะยาว และย้ำว่า “การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน” (UNESCO, 2005).


        การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการศึกษาที่ “เปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรู้ ทักษะ ทัศนคติและค่านิยมที่จำเป็นต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน” นอกจากนี้ ยังหมายถึง “การรวมประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญไว้ในการเรียน การสอน เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความหลากหลายทางชีววิทยา การลดความยากจน และการบริโภคอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยวิธีการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม ซึ่งช่วยส่งเสริมและเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและ การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการส่งเสริมสมรรถนะเช่น การคิดวิเคราะห์ จินตนาการแห่งอนาคต และการตัดสินใจในเชิงความร่วมมือ (UNESCO 2011; cf., e.g., UNECEF 2011; de Haan 2010). การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวคิดที่มีความเป็นพลวัตร และรูปแบบการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ทางการศึกษาที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างพลังประชาชนในทุกช่วงอายุ เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน (UNESCO, 2002, 2005, 2014a). การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสหวิทยาการ และการบูรณาการแบบข้ามสาขา โดยไม่มีสาขาวิชาใดจะสามารถอ้างสิทธิ์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าเป็นเรื่องเฉพาะตนได้ แต่ทุกสาขาวิชาสามารถจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยลำพัง หรือเป็นกลุ่มคณะได้


        การประชุมเพื่อการพัฒนานานาชาติที่สำคัญ ตะหนักและย้ำความสำคัญของพลังการศึกษาในการสร้างทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรม เพื่อการพัฒนาศักยภาพและทักษะในการสร้างความเข้าใจและข้อผูกพันต่อการดำเนินตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ปฏิญญาโลก (2000) ได้ย้ำข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมต่อความยั่งยืนว่าเป็นหลักการทั่วไปที่จะต้องบูรณาการเข้าไว้ในการศึกษาในระบบ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึง ความรู้ ค่านิยม และทักษะจำเป็นต่อวิถีชีวิตเพื่อความยั่งยืนในการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนที่โยฮันเนสเบอร์ก ปี 2002 ได้เสนอแนะว่าการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวคิดสำคัญต่อแผนดำเนินการ การส่งเสริมบทบาทสำคัญของการศึกษาต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนดำเนินการของการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้นำเสนอว่าควรมีการบูรณาการแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การปฏิบัติการ และหลักการไว้ในการศึกษาทุกระดับ เพื่อให้การศึกษาเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง (United Nations, 2002).
ดังนั้น ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติจึงได้ให้การรับรองข้อมติสหประชาชาติ 57/254 ในเดือนธันวาคม 2002 และได้ประกาศให้มีทศวรรษการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี 2005-2014   (สหประชาชาติ 2002) เป้าหมายโดยรวมของทศวรรษได้แก่การบูรณาการหลักการ ค่านิยม และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในทุกมิติของการศึกษาและการเรียนรู้ และการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงความรู้ ค่านิยม และทัศนคติพร้อมวิสัยทัศน์ให้เกิดสังคมที่ยุติธรรม และความยั่งยืนสำหรับทุกคน (UNESCO, 2005, 2014a, 2014b). ภายใต้การดำเนินการระหว่างประเทศ (UNESCO, 2005a) ทศวรรษได้ดำเนินการในสองระยะ ระยะแรก (2005-2008)  ด้วยการกำหนดคำจำกัดความ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ระบุผู้ดำเนินการ และหุ้นส่วนความร่วมมือ ระยะที่ 2 (2009-2014)  เน้นความก้าวหน้าในเรื่องการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยย้ำประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดการภัยพิบัติ (UNESCO, 2014a).


         ปฏิญญาบอนน์ที่ผ่านการรับรองเมื่อปี 2009  ในระหว่างการประชุมโลกด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโกที่กรุงบอนน์ เยอรมนี  เป็นจุดหักเหที่ได้สร้างความกระจ่าง และความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่บรรดารัฐมนตรี และนำไปสู่การดำเนินการระยะที่สอง  โดยได้ย้ำความสำคัญของการลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน โดยมองว่าเป็น “มาตรการเพื่อการช่วยเหลือชีวิต”สำหรับอนาคต เพื่อเพิ่มพลังประชาชนไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยตระหนักว่า “การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์” ปฏิญญาได้เสนอให้มีการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อ “การลงทุนสำหรับอนาคต” ซึ่งเชื่อมโยงการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไว้ด้วยกัน


         ในวาระการสิ้นสุดทศวรรษการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การประชุมโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เมือง Aichi-Nagoya ในปี 2014 ได้ประกาศปฏิญญา Aichi-Nagoya ซึ่งได้ตกลงร่วมกันที่จะทบทวนวัตถุประสงค์ของระบบการศึกษา ด้วยการมองไปยังอนาคตที่ยั่งยืนว่าเป็นเป้าหมายโดยรวมของการศึกษา ปฏิญญา Aichi-Nagoya ได้กำหนดว่า

 

 

“การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นโอกาสและความรับผิดชอบ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาควรได้มีส่วนร่วมในการทุ่มเทความพยายามเพื่อการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ การปกป้องสภาพความแวดล้อม และการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมที่มีความยั่งยืน เท่าเทียมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ทั้งหมด” (UNESCO, 2014e)

 

        

       เพื่อติดตามผลทศวรรษการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการโลก (GAP) ว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (2015-2019) ในระหว่างการประชุมโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เมือง Aichi-Nagoya
        แผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ผ่านการรับรองจากที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก  มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการ และยกระดับการจัดการศึกษาในทุกระดับ และพื้นที่การศึกษาและการเรียนรู้เพื่อเร่งความก้าวหน้าในการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNESCO 2014d) โครงการนี้มีวัตถุประสงค์สองประการ ประการแรกมุ่งไปที่ภาคการศึกษา ซึ่งเรียกร้องให้ “ปรับปรุงการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้รับความรู้ ทักษะ ค่านิยมและทัศนคติซึ่งช่วยเสริมสร้างผู้เรียนสร้างแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” ประการที่สอง คือการให้ทุกภาคส่วนดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และเรียกร้องพวกเขาให้ “ส่งเสริมความเข้มแข็งการศึกษาและการเรียนรู้ในวาระต่างๆ รวมถึง โครงการและกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป้าหมายสองประการนี้ เป็นไปตามกระบวนการที่กล่าวแล้วข้างต้น และข้อเท็จจริงที่ว่าการเรียนรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมไม่ใช่เฉพาะเพียงการบูรณาการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไว้ในการศึกษาเท่านั้น หนึ่งในลักษณะสำคัญของแผนปฏิบัติการ ฯ ได้แก่ การมุ่งการดำเนินงานใน 5 เรื่อง คือ 1) ความก้าวหน้าเชิงนโยบาย 2) การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และการอบรม 3) การสร้างศักยภาพนักการศึกษาและผู้ฝึกอบรม 4) การส่งเสริมและขับเคลื่อนเยาวชน  5) การส่งเสริมโครงการเพื่อสร้างความยั่งยืนในระดับท้องถิ่น (UNESCO 2014b: 15).


ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงดำเนินต่อไป


          การพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่จะต้องหารือร่วมกันระหว่างการศึกษา และการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การบูรณาการการศึกษาเข้าไว้ในการพัฒนาที่ยั่งยืน และบูรณาการการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในการศึกษา
          ตลอดปีที่ผ่านมา การศึกษามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ ชัดเจนว่า หากคนทั่วโลกไม่ได้ให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประจำทุกวันแล้ว เราจะไม่สามารถสร้างอนาคตที่เราต้องการได้ ในขณะที่เราเพียรพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราต่างให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ ทักษะ ค่านิยมและทัศนคติเพื่อตอบสนองต่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน


         ในปัจจุบัน การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการส่งเสริมความรู้ ทักษะ ค่านิยมและทัศนคติซึ่งช่วยสร้างพลังผู้เรียนในการตัดสินใจ และดำเนินการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความสมบูรณ์ ส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างสังคมที่ยุติธรรม การประกาศทศวรรษสหประชาชาติ และแผนปฏิบัติการโลกการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ส่งผลต่อความพยายามในการบรรจุเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในนโยบายการศึกษา หลักสูตร และการฝึกอบรมครู  การพัฒนาที่ยั่งยืน และการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการหารือร่วมกันมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา


          การประกาศเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ส่งผลให้ภูมิภาค ประเทศ สถาบันและบุคคลมีข้อผูกพันต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การบูรณาการอย่างมีกลยุทธ์  เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และด้วยความตั้งใจ หรือการบรรจุเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในการศึกษาทุกระดับจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นข้ามสาขา และต้องมีการบูรณาการไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกเป้าหมาย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องมีการหารือ และเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

 ดาวน์โหลดเอกสารภาษาอังกฤษ>>

***************************

translated by : Mrs. Kanittha Hanirattisai