กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผนึกความร่วมมือ จัดการสัมมนาและประชุมปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และร่วมพัฒนาสถาบันการศึกษาให้มีคุณภาพเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทย และบูรณาการเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียนและเศรษฐกิจโลก การเปิดตัวโครงการและการสัมมนาวิชาการ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖ – ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ให้แก่ ผู้บริหารการศึกษา ครู นักเรียน/ผู้เรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำนวนประมาณ ๒๕๐ – ๓๐๐ คน โดยกิจกรรมประกอบด้วย
การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยนางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
การสัมมนาวิชาการ ประกอบด้วย การอภิปราย เรื่องการยกระดับคุณภาพสถาบันการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน: ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากกรมอาเซียน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ความพร้อมของไทยเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การบรรยายพิเศษ เรื่อง ประชาคมอาเซียน: โอกาสและความท้าทายภายใต้บริบทด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยคุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ นายกสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย นอกจากนี้ การสัมมนาฯ ยังประกอบด้วย การประชุม
กลุ่มย่อย จำนวน ๑๒ กลุ่ม เพื่อวิเคราะห์แผนดำเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่และสภาพท้องถิ่น
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะร่วมมือกับ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในการจัดกิจกรรมในภูมิภาค จำนวน ๔ แห่ง โดยขอความร่วมมือจากสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ ภาคกลาง (สบย.ที่ ๕ ชลบุรีและสบย.ที่ ๔ ปทุมธานี) ภาคเหนือ (สบย. ที่ ๒ พิษณุโลก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สบย. ที่ ๙ อุบลราชธานี) และภาคใต้ (สบย.ที่ ๑๑ สงขลา และสบย. ที่ ๑๒ ยะลา) โดยในระยะแรกจะครอบคลุมพื้นที่ ๔๐ จังหวัด และจะได้มีการดำเนินการให้ครบทั้ง ๗๗ จังหวัดในปี ๒๕๕๕
(เอกสารประกอบการประชุม : ดร.สุวิทย์ / กรมเจรจาการค้าฯ /สภาพัฒน์ฯ /ผลการประชุมกลุ่มย่อย สบย.4 /สบย.9 / สบย.11 / สบย.12 / การประชุมกลุ่มย่อยในภาพรวม )
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือต่างประเทศระดับภูมิภาค