กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับยูเนสโก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเปิดตัวรายงานสรุปการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2562 ระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ “การโยกย้ายถิ่น การพลัดถิ่น และการศึกษา: สร้างสะพาน สลายกำแพง” (Thailand National Launch of the 2019 Global Education Monitoring Report “Migration, displacement and education: Building bridges, not wall”) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2562 ระหว่างเวลา 08.00 – 16.45 น. ณ ห้องประชุม 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) ชั้น 7 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
พิธีเปิดการประชุม โดย นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ ได้กล่าวเปิดการประชุม และกล่าวถึงรายงานสรุปการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกว่า ยูเนสโกได้จัดทำรายงานทุกปีตั้งแต่สหประชาชาติได้ประกาศวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2015 โดยรายงานแต่ละปีจะเน้นหัวข้อที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับการศึกษา ซึ่งรายงานในปี 2019 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้กับเด็กโยกย้ายถิ่นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาบางประการที่ต้องแก้ไข ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย และแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการสร้างความเข้าใจแนวปฏิบัติที่ตรงกัน |
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอข้อสรุปรายงานโดยผู้แทนสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ปาฐกถาพิเศษจากนักวิชาการ และการอภิปรายกลุ่มซึ่งมีผู้แทนทั้งภาครัฐและประชาสังคม รวมถึงผู้แทนเยาวชนของผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่อยู่ในประเทศไทยได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสิทธิการศึกษา ในส่วนของข้อสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2562 พบว่าเด็กโยกย้ายถิ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงและเปราะบางที่มีปัญหาในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งการโยกย้ายถิ่นเกิดจากทั้งภาวะสงคราม เศรษฐกิจ ภัยพิบัติ และความจำเป็นอื่นๆ ดังนั้น การศึกษาจึงควรเปิดกว้างเพื่อสอดรับกับความต้องการรูปแบบการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปแก่เด็กกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ มีข้อตกลง 2 ฉบับที่สำคัญ คือ Global Compact for Safe, Orderly, Regular Migration และ Global Compact on Refugees ซึ่งเน้นการดูแลรวมถึงการจัดการศึกษาให้แก่คนกลุ่มนี้ การปกป้องสิทธิ การนับคนกลุ่มนี้เข้าไปในระบบของประเทศเจ้าบ้าน การตระหนักถึงปัญหา เช่น ภาษา การอำนวยความสะดวก การลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านการศึกษา การปรับหลักสูตร การเตรียมครู การเน้นพัฒนาศักยภาพของประชากรย้ายถิ่น และการปฏิรูประบบการพัฒนาและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นต้น |
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ