Loading color scheme

สรุปผลการประชุมติดตามและประเมินผลนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ศึกษาในประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส

sema 10กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจัดโครงการประชุมติดตามและประเมินผลนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ศึกษาในประเทศอังกฤษ  เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและผู้รับผิดชอบงานโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ได้ติดตามความก้าวหน้าในเรื่องผลการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ผลการเรียนและการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนทุนที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 23 – 31 พฤษภาคม 2560
สรุปผลการประชุมดังนี้
1. การประชุมนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนในประเทศอังกฤษ จัดขึ้นที่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ในการนี้ นางสาวธนิดา เตชะโชควิวัฒน์ อัครราชทูต (ฝ่ายการศึกษา) ประจำสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศอังกฤษ ได้รายงานผลการดูแลนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนที่ศึกษาในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 149 คน จำแนกเป็นนักเรียนทุนรุ่นที่ 3 จำนวน 67 คน (กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี)  และรุ่นที่ 4 จำนวน 82 คน (กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 45 คน กำลังศึกษาหลักสูตร foundation จำนวน 2 คนและกำลังศึกษาหลักสูตร A-level จำนวน 35 คน) ซึ่งนักเรียนทุนส่วนใหญ่เลือกศึกษาสาขาต่างๆ ดังนี้ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ประกันภัย เภสัชศาสตร์ บริหารธุรกิจ การเงินและการบัญชี แพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ ฯลฯ ด้านผลการเรียนในภาพรวมพบว่า นักเรียนทุนมีผลการเรียนในระดับปานกลาง – ดีมาก ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2560 มีนักเรียนทุนสำเร็จการศึกษาจำนวน 26 คน และคาดว่านักเรียนทุนรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 ที่ศึกษาในประเทศอังกฤษทั้งหมดจะสำเร็จการศึกษาภายในปี 2565

ODOS 1 23 31 May 2017ด้านการดูแลนักเรียนทุน สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ ได้จัดให้มีการอบรมปฐมนิเทศเมื่อนักเรียนเดินทางไปถึงประเทศอังกฤษ และติดตามตรวจเยี่ยมนักเรียนทุนที่ศึกษาอยู่ในเมืองต่างๆ เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้คำปรึกษาด้านการเรียนและชีวิตความเป็นอยู่ในต่างประเทศ  รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยให้นักเรียนรายงานผลการเรียนสม่ำเสมอทุกภาคการศึกษา ทั้งนี้ จากการติดตามดูแลนักเรียนทุนพบปัญหาด้านการเรียนภาษาเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากนักเรียนทุนจำเป็นต้องมีพื้นฐานภาษาที่ดีก่อนเข้าเรียนหลักสูตร A-level และหลักสูตร foundation ซึ่งมีนักเรียนทุนบางรายไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และต้องยุติการศึกษาในต่างประเทศปรับเปลี่ยนกลับมาศึกษาต่อในประเทศไทย สำหรับสาขาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์เป็นสาขาที่สอบเข้าเรียนได้ยาก

ODOS 2 23 31 May 2017

2. การประชุมนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดขึ้นที่สถาน-เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2560 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เป็นหน่วยงานที่ดูแลนักเรียนทุนที่ศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน จำนวนทั้งหมด 56 คน จำแนกเป็นนักเรียนทุนรุ่นที่ 3 จำนวน 40 คน และรุ่นที่ 4 จำนวน 16 คน นักเรียนทุนส่วนใหญ่เลือกศึกษาสาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บัญชี เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ฯลฯ ในปีการศึกษา 2560 มีนักเรียนทุนสำเร็จการศึกษาจำนวน 32 คน และคาดว่านักเรียนทุนรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 ที่ศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ทั้งหมดจะสำเร็จการศึกษาภายในปี 2563 จากการติดตามประเมินผลพบว่า ปัญหาอุปสรรคในช่วงแรกของนักเรียนทุนคือเรื่องภาษาและการปรับตัว ต่อมาเมื่อเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาแล้วนักเรียนทุนพบปัญหาเรื่องการฝึกงานเนื่องจากมหาวิทยาลัยกำหนดเป็นภาคบังคับ ซึ่งนักเรียนทุนต้องหาที่ฝึกงานและบางคนใช้เวลาหลายเดือน ทำให้ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามกำหนดเวลา จึงต้องขออนุมัติขยายเวลาศึกษาจากสำนักงาน ก.พ.

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้โอวาทแก่นักเรียนทุนที่เข้าร่วมการประชุมที่ประเทศอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ว่า ยินดีที่ได้มาพบนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งนักเรียนทุนทุกคนได้รับโอกาสดีที่ได้มาศึกษาในประเทศอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ นอกจากจะได้วิชาความรู้ต่างๆ แล้ว ยังได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลของโลก จึงขอให้นักเรียนทุกคนตั้งใจศึกษาเล่าเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้อัญเชิญพระราชดำรัสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้นักเรียนทุนได้ตระหนักว่า การศึกษาในต่างประเทศต้องมีความพยายามที่จะฝึกฝนการใช้ภาษา เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้ตลอดเวลา และให้มีความถ่อมตนว่าเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและการดำเนินชีวิตของนักเรียนทุนอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมทั้งตอบคำถามนักเรียนทุนเกี่ยวกับการศึกษาของประเทศไทยและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง

3. การประชุมนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ประเทศฝรั่งเศส ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับนางรุจิรัตน์ ชนะชัยวิบูลวัฒน์ อัครราชทูต (ฝ่ายการศึกษา) ประจำสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศฝรั่งเศส และพบปะนักเรียนทุนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560  โดยอัครราชทูต (ฝ่ายการศึกษา) ประจำสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศฝรั่งเศสได้รายงานข้อมูลนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ดังนี้
ในปีแรกเมื่อนักเรียนทุนเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ ได้จัดให้นักเรียนทุนเข้าศึกษาหลักสูตรเตรียมความพร้อมด้านภาษาและวิชาการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (DU PFST) ณ ศูนย์ภาษาสังกัดสถาบัน IUT - Le Mans สถาบัน IUT - Limoges และสถาบันภาษาเมือง Tours เป็นระยะเวลา 2 ปีก่อนเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนทุนรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศฝรั่งเศส  จำนวนทั้งหมด 40 คน จำแนกเป็นนักเรียนทุนรุ่นที่ 3 จำนวน 30 คน และรุ่นที่ 4 จำนวน 10 คน ซึ่งมีนักเรียนทุนจำนวน 27 คน เลือกศึกษาสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเลือกศึกษาสายสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ จำนวน 13 คน  โดยส่วนใหญ่ศึกษาสาขาวิชาเคมี ชีวเทคโนโลยี วิศวกรรมเครื่องกล-ไฟฟ้า และการบริหารจัดการ ฯลฯ ด้านผลการเรียนในภาพรวมพบว่านักเรียนทุนส่วนใหญ่มีผลการเรียนในระดับปานกลาง – ดีมาก และคาดว่ามีนักเรียนทุนจำนวน 21 คน จะสามารถสำเร็จการศึกษาในเดือนมิถุนายน  ปีการศึกษา 2560 และนักเรียนทุนที่ศึกษาในประเทศฝรั่งเศสทั้งหมดจะสำเร็จการศึกษาภายในปี 2562

ODOS 4 23 31 May 2017

 

4. ข้อสังเกตจากการประชุมติดตามและประเมินผลนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ศึกษาในประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส       
4.1 นักเรียนทุนรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 มีความสามารถในการปรับตัวเพื่อศึกษาในต่างประเทศได้ดีขึ้น เนื่องจากมีเวลาในการเตรียมความพร้อมทั้งด้านภาษาและความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของต่างประเทศ อีกทั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบริหารจัดการในการดูแลนักเรียนทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้ไม่มีปัญหาเหมือนในรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2
4.2 ปัญหาหลักของนักเรียนทุนในช่วงแรกคือเรื่องภาษา ถึงแม้จะมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษาเป็นระยะเวลา 3 เดือนในประเทศไทยก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศ แต่นักเรียนทุนต้องเข้าเรียนที่สถาบันภาษาเป็นเวลาอีก 1 - 2 ปี ก่อนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย นอกจากนี้ นักเรียนทุนบางคนสอบไม่ผ่านในวิชาที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ จึงเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งพัฒนาการเรียนการสอนในด้านนี้ให้มากขึ้น
4.3 นักเรียนทุนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ปัญหาในเรื่องของการปรับตัวและการเรียนรู้เรื่องภาษา ควรแก้ไขโดยใช้ความอดทนและพยายามฝึกฝนด้วยการหมั่นฝึกพูดคุยกับเจ้าของภาษา ไม่ควรอยู่รวมกันเฉพาะกลุ่มของนักเรียนไทย อีกทั้งมีความเห็นว่า การเตรียมความพร้อมทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเสนอให้มีการจัดกิจกรรมรุ่นพี่พบกับรุ่นน้องเป็นประจำ เพื่อให้คำแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ และเห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันการศึกษา  กิจกรรมของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน  หรือสถานเอกอัครราชทูต เป็นการสร้างเครือข่ายนักเรียนทุนที่เข้มแข็ง
4.4 นักเรียนทุนที่ศึกษาอยู่ในสามประเทศดังกล่าวส่วนใหญ่มีผลการเรียนอยู่ในระดับดี  มีพัฒนาการด้านภาษาอยู่ในระดับดีมาก  มีทัศนคติการคิดเชิงบวก มีจิตสาธารณะ และมีความเห็นว่าควรดำเนินการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนในรุ่นต่อไป เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้นและมีโอกาสได้ไปศึกษาในต่างประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้กลับมาทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย
    4.5 สถิติการทำงานของนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ภายหลังสำเร็จการศึกษา   ตั้งแต่รุ่นที่ 1 – 4 (พ.ศ. 2547 – ปัจจุบัน) มีดังนี้
    - ภาคเอกชน  ร้อยละ 66
    - ภาครัฐ ร้อยละ 14
    - รัฐวิสาหกิจ  ร้อยละ 1
    - ศึกษาต่อด้วยทุนส่วนตัวหรือทุนอื่นๆ ร้อยละ 10
    - ประกอบธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 2
    - อยู่ระหว่างสมัครงานและการติดตามข้อมูล ร้อยละ 7

****************************************

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
13 มิถุนายน 2560