Loading color scheme

การพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ลาว

 N การพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาไทย ลาว11 28 8 2566

          นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการพร้อมด้วยผู้บริหารของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 24 - 27 สิงหาคม 2566 โดยได้เข้าประชุมหารือกับนายกิ่งมะโน พมมะหาไซ รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาของ สปป. ลาว
ณ กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ซึ่งได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการร่วมกัน โดยเฉพาะการจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านอาชีวศึกษาให้แก่ครูและนักเรียน สปป.ลาวในสาขาต่าง ๆ และพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการศึกษาระหว่างกัน เช่น การบริหารจัดการปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษาภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาวิชาชีพเกษตร การจูงใจให้เด็กเลือกศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษาเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน และการใช้ AI ในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพ

การพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาไทย ลาว55 28 8 2566p1

          ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการไทยได้แสดงความมุ่งมั่งในการส่งเสริมการศึกษาให้แก่ สปป.ลาว เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษาและฝึกอบรมในสาขาที่ฝ่ายลาวแสดงความสนใจ จัดการศึกษาดูงาน เพื่อสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) และเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) รวมทั้งการส่งเสริมและขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ปฏิญญาว่าด้วยการดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปฏิญญาทาชเคนต์ที่มีการรับรองในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยที่สาธารณรัฐ อุซเบกิสถาน นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการยังได้แสดงความชื่นชมกรมเทคนิคและอาชีวศึกษา สปป.ลาว ในการจัดการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (TVET Capacity Building) และจัดการดูงานที่วิทยาลัยเทคนิควิชาชีพการรถไฟลาว และวิทยาลัยการช่างลาว – เยอรมัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ในท้ายสุดของการหารือได้เสนอฝ่ายลาวพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วม ด้านการศึกษาไทย - สปป. ลาว ครั้งที่ 2 ในปี 2567 เพื่อหารือและกำหนดแนวทางความร่วมมือในสาขา ที่เป็นความสนใจของทั้งสองฝ่ายภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย-สปป. ลาว ตลอดจนโครงการและกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคมปัจจุบัน

การพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาไทย ลาว1 28 8 2566

การพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาไทย ลาว2 28 8 2566

          ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะยังได้เข้าพบหารือกับนางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ซึ่งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับทราบการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาโดยการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น ความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในจัดการฝึกอบรมแนวทางการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษาสำหรับบุคลากรจากกรมการสร้างครู สปป.ลาว และโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นต้น

p2การพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาไทย ลาว3 28 8 2566

          อนึ่ง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะได้เยี่ยมชมศูนย์ฝึกปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม เมืองวังเวียง (The Academy Training Hotel & Restaurant) โดยวิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ ซึ่งจัดการเรียนการสอนแผนกการโรงแรมการท่องเที่ยว หลักสูตรวิชาชีพระดับกลาง การบริการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม การบริการโรงแรม การบริการการเดินทางและการท่องเที่ยว และการเยี่ยมชมวิทยาลัยเทคนิควิชาชีพมิตรภาพเวียงจันทน์-ฮานอย ซึ่งได้หารือและแลกเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอน เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเมล็ดกาแฟ เป็นต้น

p3

          นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลก ณ เมืองหลวงพระบาง ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็น เมืองมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 19 ณ กรุงเบอร์ลิน โดยเมืองหลวงพระบางเป็นเมืองที่สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานของสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมและโครงสร้างเมืองในยุคอาณานิคมของยุโรปจากศตวรรษที่ 19 และ 20 เช่น อาคารโบราณที่มีสถาปัตยกรรมระหว่างฝรั่งเศสและล้านช้างผสมผสานอยู่ วัฒนธรรมที่สืบสานกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การตักบาตรข้าวเหนียว การนุ่งซิ่น ทั้งนี้ เมืองหลวงพระบางได้ควบคุมการก่อสร้างอาคารให้กลมกลืนกับพื้นที่ เช่น หลังคาบ้านเป็นทรงแบบลาวดั้งเดิมหรืออาคารที่กำหนดไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งประชาชนในเมืองมีความเข้าใจและสามารถปรับตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลรักษา เมืองมรดกโลกได้เป็นอย่างดี

โกมุที ยมลนันทน์
จิรัฎฐ์ แสนดี 
พิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
28 สิงหาคม 2566