Loading color scheme

ศธ. จับมือยูเอ็นลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีในโรงเรียน

Mapping the Digital 17 12 2563

          นางสาวชฎารัตน์ สิงหเดชากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมออนไลน์เพื่อวิพากษ์งานวิจัยเรื่อง Mapping the Digital Divide in the School Education of Thailand เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 เวลา 15.00 – 17.00 น. โดยมีผู้แทนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) องค์การยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ผู้ประสานงานองค์การ
สหประชาชาติ (UN Resident Coordinator: UNRC) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

Mapping the Digital Divide in the School Education of Thailand1 17 12 2563

          ในช่วงต้น คณะผู้วิจัยได้นำเสนอกรอบแนวคิดการวิจัย และรายงานข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิต่าง ๆ ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยผลจากการศึกษาในชั้นต้นพบว่า 1) การเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในบ้านและโรงเรียนมีความแตกต่างกันระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท โรงเรียนเอกชนและรัฐบาล และสถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือนนักเรียน 2) นักเรียนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตโดยสถานะของสถานศึกษาและครัวเรือนไม่ได้สร้าง
ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญมากนัก และ 3) ผู้บริหารโรงเรียนมีความเห็นตรงกันว่าครูผู้สอนควรมีความรู้ที่บูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอน แต่ผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่าครูผู้สอนยังมีความแตกต่างกันระหว่างโรงเรียนในสังกัดของรัฐบาลกับโรงเรียนเอกชน และสถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือนของนักเรียน

Mapping the Digital Divide in the School Education of Thailand2 17 12 2563

          ในโอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเพื่อให้คณะผู้วิจัยได้เพิ่มเติมในงานวิจัย อาทิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้คณะผู้วิจัยพิจารณาความน่าเชื่อถือและความสอดคล้องของแหล่งข้อมูลที่ใช้อ้างอิงในการจัดทำงานวิจัย รวมทั้งสอบถามถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยดังกล่าว นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้คณะผู้วิจัยเพิ่มเติมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดและกรอบการวิจัยในเอกสารเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา Ms. Séverine Leonardi รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เสนอให้วิจัยเพิ่มเติมในเชิงลึกโดยระบุการเข้าถึงเครือข่ายสารสนเทศทางการศึกษาเป็นรายสถานศึกษา และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้แทนองค์การยูเนสโกเห็นควรให้คณะวิจัยได้เพิ่มข้อเสนอแนะที่มีลักษณะเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีในโรงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้รับข้อเสนอดังกล่าวไปใช้ปรับปรุงงานวิจัยก่อนนำเสนออีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม 2564

Mapping the Digital Divide in the School Education of Thailand3 17 12 2563

          อนึ่ง โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง Identify unconnected and under-connected schools and communities in Thailand with the focus on the education sector ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) องค์การยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) และผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ (UN Resident Coordinator: UNRC) ที่มีเป้าหมายเพื่อศึกษาสถานการณ์เข้าถึงเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสถานศึกษาและชุมชนในประเทศไทย วิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงเพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป

สรุป/เรียบเรียง : กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬ์เฎร์
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 17 ธันวาคม 2563