Loading color scheme

ความร่วมมือด้านการศึกษากับ Arkki Thailand

arkki 28 4 2564

arkki1 28 4 2564

          เมื่อวันอังคารที่ 27 เมษายน 2564 เวลา 14.00 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมหารือความร่วมมือกับ Arkki Thailand ณ
ห้องประชุมจันทรเกษม
อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสมทรง งามวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

arkki2 28 4 2564

          Arkki Thailand จัดตั้งโดยบริษัท อินโนวาติโอ จำกัด ใช้หลักสูตรที่ประสบความสำเร็จจากการปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนของสถาบัน โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-Based Learning) ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัวของผู้เรียน  สถานการณ์และสภาพจริง โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการแก้ไขปัญหามากกว่าการให้คำตอบ ผู้เรียนจะสามารถคิดแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองในหลากหลายวิธีการ ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักการเรียนรู้ Coding และ STEAM ซึ่งบูรณาการความรู้ในหลายศาสตร์รวมกันในหนึ่งบทเรียน ทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้แบบองค์รวม อีกทั้งสามารถเข้าใจสิ่งรอบตัวโดยผ่านกระบวนการคิดแก้ไขปัญหา การคิดแบบวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ และการคิดในเชิงนวัตกรรม

arkki4 28 4 2564

           รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบของ Arkki ที่เน้นการเรียนรู้แบบ Phenomenal Learning มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการเชื่อมโยงกับการเรียนรู้แบบ Coding ที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกันพิจารณาแนวทาง และความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับ Arkki Thailand เพื่อพัฒนาการเรียนรู้

arkki3 28 4 2564

          นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวมีความเหมาะสมกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาของไทยจึงเสนอให้สำนักงาน
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนำไปพิจารณาเพื่อปรับใช้ในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 10 จังหวัด

arkki5 28 4 2564

          นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า รูปแบบการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ สพฐ. กำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ ได้เสนอแนวทางในการดำเนินความร่วมมือกับ Arkki Thailand ว่า จะต้องจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือในเชิงรูปธรรมโดยสามารถริเริ่มในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีความขาดแคลน โดย สพฐ. ยินดีที่จะร่วมมือกับ Arkki Thailand เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนของไทยให้มีคุณภาพต่อไป

สรุปและเรียบเรียง : หงษ์ฟ้า วีระนพรัตน์
จิตรลดา จันทร์แหยม
ข้อมูล/ภาพประกอบ : สำนักงานรัฐมนตรี
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 28 เมษายน 2564