Loading color scheme

Thai NATCOM for UNESCO ร่วมยินดี “สงกรานต์ ปีใหม่ไทย” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก

Songkran6 6 12 2566

          พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Thai National Commission for UNESCO) มีความยินดีที่ได้มีส่วนในการเสนอชื่อรายการ “สงกรานต์ ปีใหม่ไทย” ให้เป็นอีกหนึ่งรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก และร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรมและประเพณี “สงกรานต์” เพื่อให้ชาวโลกได้ชื่นชมโดยทั่วกัน

Songkran2 6 12 2566

          อนึ่ง ในช่วงเช้าของวันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 (ตามเวลาท้องถิ่นของสาธารณรัฐบอตสวานา) ซึ่งตรงกับเวลาประเทศไทยประมาณ 15.10 น. องค์การยูเนสโกได้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 (Eighteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ณ เมืองคาซาเน สาธารณรัฐบอตสวานา และได้พิจารณาขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ ปีใหม่ไทย” หรือ “Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในประเภทแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาลต่าง ๆ (Social Practices, Rituals and Festive Events)

Songkran3 6 12 2566

          “สงกรานต์ ปีใหม่ไทย” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้หลายแง่มุมในชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายทั่วประเทศไทย โดยมีความสำคัญทางสังคมและความหมายทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กันมานาน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำ ได้แก่

(1) การชะล้างความโชคร้ายในอดีตและขอให้เจริญรุ่งเรืองในปีหน้า
(2) การกลับมาอยู่ร่วมกันกับครอบครัว
(3) การเคารพนับถือผู้อาวุโสและบรรพบุรุษ
(4) การทำบุญตักบาตร
(5) ความร่วมมือของชุมชน ความสามัคคี และการให้อภัย

          สงกรานต์เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นโดยชุมชนชาวพุทธที่หลากหลาย รวมถึงชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ชุมชนและกลุ่มท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพพิเศษและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักโหราศาสตร์ ผู้นำพิธีกรรม พระภิกษุ ช่างฝีมือ และหน่วยงานสาธารณะระดับชาติ นักวิชาการ และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น

Songkran4 6 12 2566

          เทศกาลสงกรานต์เริ่มต้นด้วยสมาชิกในครอบครัวและชุมชน ร่วมกันทำความสะอาดและตกแต่งบ้านและสถานที่สาธารณะ ประชาชนไปวัดทำบุญ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ไหว้บรรพบุรุษ สร้างเจดีย์ทราย และบริจาคเงินสร้างวัด การเฉลิมฉลองโดยทั่วไป ได้แก่ การสรงน้ำพระสำคัญ ๆ ที่นำมาจากวัด การรดน้ำและสาดน้ำกับครอบครัวและเพื่อนฝูง การแสดงละครพื้นบ้าน การละเล่นดนตรี และการเลี้ยงฉลอง ซึ่งการเฉลิมฉลองเหล่านี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวและความผูกพันในชุมชน

          ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ขนาดและจำนวนชุมชนชนบทและเกษตรกรรมลดลง ประเทศไทยจึงได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเช่นกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บางครั้ง จึงทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่โดยลำพัง และเพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้มีวันชาติสองวันในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ได้แก่ วันผู้สูงอายุแห่งชาติในวันที่ 13 เมษายน และวันครอบครัวแห่งชาติ ในวันที่ 14 เมษายน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของค่านิยมตามประเพณี ตอกย้ำความสำคัญของผู้สูงอายุและครอบครัวในช่วงสงกรานต์ ซึ่งช่วยส่งเสริมหน้าที่และความหมายของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย

          ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) ของยูเนสโก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2559 และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 เป็นกลไกในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ เพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้และให้เกิดความชื่นชมร่วมกัน

ปัจจุบันยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติของประเทศไทยแล้ว รวมจำนวน 4 รายการ ได้แก่

1. “โขน” ในปี พ.ศ. 2561
2. “นวดไทย” ในปี พ.ศ. 2562
3. “โนรา” ในปี พ.ศ. 2564
4. “สงกรานต์ ปีใหม่ไทย” ในปี พ.ศ. 2566

รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
6 ธันวาคม 2566