Loading color scheme

ไทยและสหราชอาณาจักรร่วมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาและเทคโนโลยี

indo pacific 19 10 2566

           พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนาง Anne-Marie Trevelyan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ด้านอินโด-แปซิฟิก) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลา 16.30 น. ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในโอกาสเยือนประเทศไทยและเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร โดยนาง Anne-Marie Trevelyan พร้อมด้วย นาย Mark Gooding OBE เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย Mr. Danny Whitehead ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย และนางสาวนันทมาศ ฉัตราภรณ์ ผู้จัดการด้านการศึกษาและการค้า ได้เข้าพบและพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือด้านการศึกษา เช่น การดำเนินความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร และการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา

indo pacific1 19 10 2566

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับนาง Anne-Marie Trevelyan ในโอกาสที่มาเยือนประเทศไทยและขอบคุณที่มาเยือนกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้กล่าวถึงนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” เพราะเชื่อว่าหากนักเรียนมีความสุขแล้ว ก็จะสามารถทำกิจการงานต่างๆ รวมทั้งสามารถเล่าเรียนได้ดี นโยบายด้านการศึกษาอีกประการคือ การพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีเนื้อหาการเรียนเพื่อให้สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ทุกที่ทุกเวลา และประสงค์จะขอแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติของสหราชอาณาจักร รวมถึงแนวคิดของสหราชอาณาจักรที่จะกลับมาใช้การเรียนการสอนรูปแบบเดิม คือ การใช้ตำราเรียนในชั้นเรียน

indo pacific2 19 10 2566

          นาง Anne-Marie Trevelyan กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาพบผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติด้านการศึกษาของสหราชอาณาจักร โดยช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สหราชอาณาจักรได้ใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งก็มีปัญหาท้าทายด้านงบประมาณ นักเรียนไม่มีอุปกรณ์การเรียน เช่น แท็บเลต ทุกคน จึงได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ บริษัท/ผู้ผลิตทั้งด้านอุปกรณ์และ software ผู้ผลิตตำราเรียนในการถ่ายโอนข้อมูลจากหนังสือเรียนไปสู่ระบบออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาครูในการสอนแบบออนไลน์ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 พบว่าครูยังมีการสอนแบบออนไลน์อยู่ ซึ่งมีข้อดีคือ ในกรณีที่ขาดแคลนครูสอนเฉพาะรายวิชา ก็สามารถใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ได้ โดยเฉพาะโรงเรียนในเมืองเล็กๆ นอกจากนี้ ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและผลักดันเรื่องการสอนภาษาอังกฤษ จึงเสนอที่จะให้ความร่วมมือในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึงความสำคัญของการเรียนภาษาอังกฤษว่ามีความสำคัญมากเพราะเป็นภาษาสากลและเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ ได้ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในบางกิจกรรมมีปัจจัยด้านงบประมาณ อีกทั้งในประเทศไทยยังมีเด็กด้อยโอกาสอยู่เป็นจำนวนมาก หากทางสหราชอาณาจักรสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ก็จะช่วยสร้างโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ยิ่งขึ้น ซึ่งนาง Anne-Marie Trevelyan ยินดีที่จะให้การสนับสนุนผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และบริติช เคานซิล ประเทศไทย โดยประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการในรายละเอียดต่อไป

indo pacific3 19 10 2566

รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
18 ตุลาคม 2566