Loading color scheme

เอกอัครราชทูตฯ สาธารณรัฐซิมบับเว เข้าเยี่ยมคารวะ รมว.ศธ. พร้อมหารือการริเริ่มความร่วมมือทางการศึกษา

ซิมบับเว 6 2 2567

          เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 11.00 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้การต้อนรับนางคอนสตันซ์ เชมวายี (H.E. Mrs. Constance Chemwayi) เอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐซิมบับเวประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ

ซิมบับเว1 6 2 2567

          รมว.ศธ. กล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ และชื่นชมสาธารณรัฐซิมบับเว โดยได้รับทราบข่าวสารและเรื่องราวของสาธารณรัฐซิมบับเวผ่านทางสื่อต่างๆ พร้อมทั้งมีความยินดีที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซิมบับเว รวมถึงข้อริเริ่มความร่วมมือทางการศึกษาในโอกาสต่อไป

ซิมบับเว2 6 2 2567

          ด้านนางคอนสตันซ์ เชมวายี เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวขอบคุณ รมว.ศธ. ที่ให้การต้อนรับในครั้งนี้ และขอบคุณประเทศไทยที่ให้ความสำคัญในการสานต่อความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐซิมบับเว ทั้งสองประเทศ มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ราบรื่นด้วยดีมาโดยตลอด ในส่วนของการศึกษา รัฐบาลและสถาบันการศึกษาไทย ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษาซิมบับเวเพื่อเข้าศึกษาในสาขาการเกษตรและพยาบาลศาสตร์ มีนักเรียนและนักศึกษาซิมบับเวที่มาศึกษาอยู่ในสถานศึกษาเอกชนของไทยในสาขาการท่องเที่ยวและการบริการเป็นส่วนใหญ่ โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่นักเรียนและนักศึกษาซิมบับเวให้ความสนใจในการเข้าศึกษาต่อ เนื่องจากเป็นประเทศที่น่าอยู่และมีระบบการศึกษาที่ดี นอกจากนี้ ยังมีครูชาวซิมบับเว และนักศึกษา ระดับปริญญาเอก เข้ามาสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาไทยด้วย 

ซิมบับเว3 6 2 2567

          พร้อมนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว และเป็นจุดหมายหนึ่งที่ชาวซิมบับเวมักจะเดินทางมาพักผ่อน และได้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของซิมบับเวที่มีชื่อเสียงระดับโลก คือ น้ำตกวิคตอเรีย ซึ่งเป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีความหลากหลายทางธรรมชาติที่น่าสนใจ ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เสนอข้อหารือเกี่ยวกับครูสอนภาษาอังกฤษชาวซิมบับเวในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการและสาธารณรัฐซิมบับเวยังไม่เคยมีความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวมาก่อน ดังนั้น จะได้หารือเพิ่มเติมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ซิมบับเว4 6 2 2567

สรุป / เรียบเรียง : นัศรูน เปาะมะ
พิชญสุดา พลเสน
รัชนินท์ พงศ์อุดม
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
5 กุมภาพันธ์ 2567