Loading color scheme

กระทรวงศึกษาธิการและสวิตเซอร์แลนด์ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการศึกษา

ตุรกี2 19 1 2567

          พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับนายเปโดร สวาห์เลน (H.E. Mr. Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย นายอาร์โนด์ เจอร์มานน์ (Mr. Arnaud Germann) เจ้าหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม และคุณเทียมแข ฐิติธรรมธาดา เจ้าหน้าที่แผนกการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 เวลา 13.30 น. ณ ห้องรับรองดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเข้าร่วมการเยี่ยมคารวะ ได้แก่ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางพิมพ์วรัชญ์ เมืองนิล รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้อง

ตุรกี3 19 1 2567

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวต้อนรับนายเปโดร สวาห์เลน และผู้ติดตาม และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีความใกล้ชิด เป็นประเทศที่อดีตพระมหากษัตริย์ไทย (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)) ทรงประทับอยู่เมื่อยังทรงพระเยาว์ อีกทั้งยังได้ชื่นชมความสวยงาม สงบ สะอาด มีระเบียบของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และอัธยาศัยที่ดีของชาวสวิส นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงนโยบายด้านการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวคิดการทั้งการเรียนและการทำงาน หากทำด้วยความสุข จะส่งผลสำเร็จในทุกด้าน

ตุรกี4 19 1 2567

          นายเปโดร สวาห์เลน ได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ที่มีมายาวนาน ไทยและสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีทั้งความเหมือนและความต่าง กล่าวคือ ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล มหาสมุทร มีอากาศอบอุ่นในเขตร้อน อาหารอร่อย ผู้คนอัธยาศัยดี ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์มีภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาสูง อากาศหนาว และมีการเล่นสกี แต่สิ่งที่ทั้งสองประเทศมีความเหมือน คือ ความสงบร่มเย็น และการเคารพในความหลากหลาย โดยได้ยกตัวอย่างภาษาราชการของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมี 3 ภาษา ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะมีฉลากทั้ง 3 ภาษา ดังนั้น ความหลากหลายทางภาษาจึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ส่วนไทยมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาถิ่น ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์มีความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ในการดำเนินโครงการเพื่อศึกษาภาษาชาติพันธุ์ของไทยทางภาคเหนือ ซึ่งเชื่อมโยงถึงความสำคัญด้านภาษาที่มีผลต่อการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยเห็นว่า ในวัยเด็กหากใช้ภาษาแม่ในการเล่าเรียน จะช่วยให้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตได้แลกเปลี่ยนความเห็นในการดำเนินการของคณะกรรมการ PISA แห่งชาติของไทย ว่ามีแนวทางในการพัฒนาต่อไปอย่างไร

ตุรกี5 19 1 2567

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึง การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็ก ที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพให้สามารถทำงานในระดับสากลได้ ในส่วนการดำเนินงานของ PISA (โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ Programme for International Student Assessment) จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมดำเนินการ การจัดทำแนวทางให้สถานศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์สูงเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ เนื่องจากผลของ PISA ที่ต่ำจะส่งผลให้นักลงทุนประเมินความสามารถของเด็กไทยไม่เก่ง ซึ่งแท้จริง เด็กไทยมีความรอบรู้และความสามารถที่จะทำงานร่วมกับต่างชาติได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ผู้เรียนแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้เรียนที่มีความเป็นเลิศ และผู้เรียนที่มีทักษะเพื่อการดำเนินชีวิต แม้ว่าการสอบ PISA เน้นความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งกลุ่มผู้เรียนที่มีความเป็นเลิศจะได้รับการดูแลเป็นอันดับต้น อย่างไรก็ตาม เด็กทุกคนก็จะได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้และความสามารถอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้เชิญชวนสถานทูตฯ ร่วมจัดบูทนิทรรศการงานวันเด็กในครั้งหน้า หรือเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ เข้าเยี่ยมชมสถานทูตฯ เพื่อเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกระชับความสัมพันธ์ต่อไป ซึ่งนายเปโดร สวาห์เลน ยินดีให้ความร่วมมือในการร่วมกิจกรรมและโครงการกับกระทรวงศึกษาธิการในโอกาสต่อไป

ตุรกี6 19 1 2567


สรุป / เรียบเรียง : รัชนินท์ พงศ์อุดม
ภัสศรี ศิริประภา
กลุ่มความร่วมมือทวิภาคี
รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
18 มกราคม 2567