Loading color scheme

สรุปผลการประชุมนานาชาติ UNESCO-APEID ครั้งที่ ๑๖

สรุปผลการประชุมนานาชาติ UNESCO-APEID ครั้งที่ ๑๖
หัวใจของการศึกษา : การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
16th UNESCO-APEID International Conference)
“The Heart of Education: Learning to Live Together”
๒๑ – ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
ณ โรงแรม Pullman King Power กรุงเทพฯ

dsc_0122


นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำความสำคัญของการศึกษาในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เน้นการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน การสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมขันติธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข ในระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมนานาชาติ UNESCO-APEID ครั้งที่ ๑๖

กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติ UNESCO-APEID ครั้งที่ ๑๖ โดยได้รับการสนับสนุนจาก ๓ หน่วยงานหลัก คือ APNIEVE Pearson และ J.P.Morgan เพื่อมุ่งศึกษาสำรวจกรอบแนวคิดในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่เชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้   และการพัฒนาทางสังคม ค้นหาวิธีการ/รูปแบบในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน   รวมทั้งจัดตั้งเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์   ระหว่างผู้จัดทำนโยบาย นักวิจัย นักการศึกษา นักบริหาร เยาวชน และบุคลากรภาคเอกชน โดยมีผู้แทนจาก ๓๐ ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเข้าร่วมการประชุมฯ รวม ๒๕๐ คน

dsc_0058
As Ban Ki-moon, the UN Secretary-General pointed out at the launch of the Education First initiative in September 2012 “…..when we put Education First, we can reduce poverty and hunger, endwasted potential – and look forward to stronger and better societies for all.”
พิธีเปิดการประชุมจัดขึ้นในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ โดยนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ผู้แทนจากPearson และJ.P.Morgan พร้อมทั้งกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมฯ และแสดงความยินดีที่กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ดำเนินการจัดการประชุมนานาชาติขึ้นที่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้การสนับสนุนหลักจาก APNIEVE Pearson และ J.PMorgan และได้กล่าวถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สมดุลทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก จะสำเร็จผลได้ต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างการให้ความเคารพ  ซึ่งกันและกัน การสร้างความเข้าใจและขันติธรรม สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่หนทางในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรม รวมถึงสิ่งท้าทายต่างๆ ที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบัน การศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญ    ในการสร้างคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นเช่นเดียวกับที่นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เปิดตัวข้อริเริ่ม “Education First” เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๕ ซึ่งมีใจความว่า ......หากเราให้ความสำคัญกับเรื่องของการศึกษาเป็นอันดับแรก เราก็สามารถลดความยากจน  และความหิวโหย และสร้างสังคมเพื่อปวงชนที่แข็งแกร่งขึ้นและดียิ่งขึ้นได้ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้กำหนดนโยบายการศึกษา ภายใต้แนวคิด “One Big Family” ที่มุ่งเน้นการยกระดับการมีสติ การสร้างความรู้ ค่านิยมและทักษะสังคม และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างสังคมที่มีความร่วมมือกันมากขึ้น    สังคมสันติสุข และสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำความสำคัญในการแบ่งปัน ทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมให้แก่ประชาชนทุกวัย รวมถึงผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและทรัพยากรตลอดชีวิตโดยเฉพาะการขยายโอกาสทางการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ ยูเนสโกยังให้การสนับสนุนการสร้างเครือข่าย ศูนย์การเรียนชุมชนที่เข้มแข็งภายใต้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

dsc_0109dsc_0079

วิทยากรทั้งชาวไทยและต่างชาติได้นำเสนอประสบการณ์/แนวปฏิบัติที่ดีในระหว่างการประชุมวิชาการและการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีหัวข้อสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้

การประชุมฯ ประกอบด้วย การประชุมทางวิชาการซึ่งเน้นเรื่องกระบวนทัศน์ในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน แนวปฏิบัติด้านนวัตกรรม การร่วมมือกันและการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ รวมถึงนโยบายและเครื่องมือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน และการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการโดยหัวข้อที่นำเสนอมีความสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมฯ โดยได้มีการอ้างถึงรายงานของ Delors ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๖ ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ บนพื้นฐานของการเรียนรู้ ๔ เสาหลัก ได้แก่ การเรียนเพื่อที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น (learning to live together) การเรียนเพื่อที่จะให้รู้ (learning to know) การเรียนเพื่อให้สามารถกระทำได้ (learning to do) และการเรียนเพื่อที่จะเป็น (learning to be) ซึ่งเป็นหัวใจหลักแห่งการพัฒนาบุคคลและชุมชน และที่สำคัญอย่างมากคือ เสาหลักแรก การเรียนรู้เพื่อที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นซึ่งเป็นความปรารถนาของบุคคลที่จะเรียนรู้ผู้อื่นจากภูมิหลัง วัฒนธรรม ประเพณี และค่านิยม โดยสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเข้าใจและความสมัครสมานสามัคคีระหว่างกัน และด้วยเหตุที่หลายประเทศทั่วโลกต้องประสบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และความเหลื่อมล้ำทางด้านศีลธรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เหล่านานาประเทศควรมองย้อนกลับไปและให้ความสำคัญกับหัวใจหลักของการศึกษาที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข

ผู้จัดทำนโยบาย นักวิจัย นักการศึกษา นักบริหาร เยาวชน และบุคลากรภาคเอกชนจาก ๓๐ ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้ร่วมกันหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
ที่ประชุมได้แสดงทัศนคติและมุมมองต่อการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยร่วมกันตระหนักว่า    นอกจากการให้ความสำคัญต่อสภาวการณ์แข่งขันของโลกในปัจจุบันแล้ว ควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมุ่งผลักดันการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิต (Life Skills) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ปรับเปลี่ยนรูปแบบ/วิธีการสอนที่เน้นการเข้าถึงการศึกษาจากการใช้สื่อ/เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ Tablet PC, E-book, E-learning, Mobile learning, Multimedia หรือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตามที่ปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วเพื่อก้าวทันโลกแห่งการแข่งขัน รวมทั้งการใช้ชีวิตในโลกส่วนตนผ่าน Cyber Game และ Social Network ที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านอารมณ์และความรู้สึก ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์หรือการใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การแสดงออกซึ่งความรุนแรงของเยาวชน ซึ่งสถาบันครอบครัว สถานศึกษา และชุมชน ควรให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาทักษะชีวิตควบคู่ ไปกับการพัฒนาการรู้หนังสือของเยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในชุมชน/สังคมได้อย่างสันติสุข โดยเน้นการสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมควบคู่กัน

การเชื่อมโยงทักษะพื้นฐานและความรู้ การส่งเสริมความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม การปฏิรูปบทบาทของครู เป็นกลไกสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยปราศจากความขัดแย้ง
กลไกการดำเนินการพัฒนาการศึกษามุ่งเน้นการเชื่อมโยงทักษะพื้นฐานและความรู้เพื่อความอยู่รอดในสังคมโดยปราศจากความขัดแย้ง การร่วมมือกันจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม เพื่อสร้างความปรองดองในสังคม การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้โดยการสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างครูกับนักเรียน การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านสถานการณ์ภัยพิบัติ การพัฒนาวิธีการมีส่วนร่วมและเครื่องมือเพื่อส่งเสริม  การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน การส่งเสริมความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม การปฏิรูปบทบาทของครู การสร้างแนวทาง  ที่ดีพร้อมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อรองรับการใช้เครื่องมือสื่อสารผ่านโลกออนไลน์/ไซเบอร์อย่างเหมาะสมการส่งเสริมสันติศึกษา การสร้างความสัมพันธ์และความปรองดองระหว่างกัน การผลักดันเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรและสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย การพัฒนากรอบนโยบายและวิสัยทัศน์ การพัฒนาหลักสูตรและนโยบายครู การสร้างความตระหนักและการบริหารจัดการตนเองและสังคม การผลักดันเรื่องการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมด้านศิลปะและดนตรี 

การอภิปรายร่วมกันได้มีการวิเคราะห์ถึงบทสัมภาษณ์เด็กในสถานการณ์จริงที่ว่า การอยู่กับเพื่อนพ้องในสังคมย่อมมีความสำคัญมากกว่าการได้มาซึ่งเครื่องมือ/อุปกรณ์ทางเทคโนโลยี ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้เยาวชนได้รู้จักวิธีการสร้างความสุข/สนุกกับชีวิต การสร้างสันติภาพ ความปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรือง เพื่อสามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคม ไม่เน้นแค่การแข่งขัน แต่ควรส่งเสริมการสร้างความร่วมมือระหว่างกันด้วยการสร้างสัมพันธภาพที่ดีอันจะนำไปสู่ความสงบสุขทางสังคมโดยปราศจากความขัดแย้ง รวมทั้งการบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลักดันให้เกิดสังคมแห่ง การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นและนำไปสู่การดำเนินการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

-------------------------------
ข้อมูลโดย
กลุ่มความร่วมมือพหุภาคี ๑
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕