Loading color scheme

กระทรวงศึกษาธิการกระชับความร่วมมือ SEAMEO สร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้กับผู้เรียนโรงเรียนชายขอบ

N Border Schools 25 11 2564

          ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นำ ดร. เอเทล แอ็คเนส ปาสกวา วาเลนซุเอลา (Dr. Ethel Agnes Pascua Valenzuela) ผู้อํานวยการสํานักงานเลขาธิการซีมีโอ พร้อมด้วยนายสมทรง งามวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. และคณะ เดินทางไปยังจังหวัดสระแก้ว เพื่อประชุมหารือและสำรวจโรงเรียนชายแดนภายใต้โครงการ SEAMEO Border Schools Quality Inclusive Education Project (BSQIEP) โดยมี ดร. วันเพ็ญ บุรีสูงเนิน รองศึกษาธิการภาค 6 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 9 นายศักดิ์ชัย บรรณสาร ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดสระแก้ว รวมทั้งผู้บริหารจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้วเขต 1 เขต 2 และผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

Border Schools8 25 11 2564

Border Schools1 25 11 2564

          การประชุมหารือในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจาก ดร. เอเทล ได้เข้าพบและหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ในการดำเนินโครงการ SEAMEO Border Schools Quality Inclusive Education Project (BSOIEP) ภายใต้ SEAMEO CARES Project เพื่อสนองตอบประเด็นสำคัญซีมีโอด้านการศึกษา ข้อที่ 2 เรื่อง “การจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา” – Addressing Barriers to Inclusion ในยุคหลังโควิด-19 โดยเลือกโรงเรียนชายแดนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว

Border Schools2 25 11 2564

          การลงพื้นที่สถานศึกษาและประชุมหารือ ระหว่างวันที่ 23 -24 พฤศจิกายน 2564 เพื่อรับทราบสภาพปัจจุบัน รับฟังผลงานที่สำเร็จทั้งของโรงเรียน ผู้บริหาร ครู และนักเรียน รวมถึงประเด็นปัญหาที่โรงเรียนชายแดนต้องเผชิญ ตลอดจนสำรวจ ความต้องการจำเป็นและแนวทางการพัฒนาสถานศึกษาในอนาคต จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่

          1. โรงเรียนบ้านเขาตาง้อก ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด เป็นโรงเรียนขนาดกลาง สอนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนต้น มีจำนวนนักเรียน 201 คน ครู 15 คน ห้องเรียน 11 ห้อง

Border Schools5 25 11 2564

          2. โรงเรียนบ้านคลองไก่เถื่อน ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด เป็นโรงเรียนขนาดกลาง สอนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนต้น มีจำนวนนักเรียน 234 คน ครู 16 คน ห้องเรียน 11 ห้อง

Border Schools6 25 11 2564
          3. โรงเรียนบ้านคลองหว้า ตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ เป็นโรงเรียนขนาดกลาง สอนในระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา มีจำนวน นักเรียน 151 คน ครู 13 คน ห้องเรียน 8 ห้อง

Border Schools7 25 11 2564

Border Schools9 25 11 2564

          จากการประชุมหารือ พบปะผู้บริหาร ครู บุคลากร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยคณะได้รับทราบข้อมูลประเด็นที่เป็นปัญหาในการจัดการเรียนรู้ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้

• ด้านสภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา
- แนวโน้มโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอัตราการเกิดลดลง
- ครอบครัวส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีปู่ย่าเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรหลาน ในขณะที่พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งมีความเสี่ยงที่เด็กจะขาดความเข้าใจและอาจไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ให้มีพัฒนาการตามวัย
- โควิด 19 ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครอบครัวและกระทบต่อการเลือกในการเข้าศึกษาของบุตรหลาน

• ด้านบุคลากร

- สถานศึกษาขาดครูเฉพาะด้าน โดยเฉพาะครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กพิเศษ และครูด้านภาษาต่างประเทศ
- ครูมีการโอนย้ายบ่อยครั้งส่งผลให้ต้องมีการฝีกอบรมครูใหม่บ่อยครั้ง และขาดความต่อเนื่องในการจัดการเรียนการสอน
- ครูไม่มีความสุขในการสอนอันเนื่องมาจากมีภาระงานมากกว่าการสอนในห้องเรียนมากเกินไป

• ด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน

- สถานศึกษาขาดสื่อในรูปแบบเทคโนโลยี และสื่อดิจิทัลที่จะช่วยในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- สถานศึกษาบางแห่งมีพื้นที่กว้างแต่ขาดการสนับสนุนทรัพยากรเพื่อบริหารจัดการพื้นที่
- มีความต้องการในด้าน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การปรับปรุงห้องสมุด และการพัฒนาครูโดยเฉพาะครูในสาขาการศึกษาพิเศษ
- สถานศึกษาขาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และต้องการปรับปรุงห้อง
- สถานศึกษาต้องการให้มีการปรับปรุงพื้นที่ห้องสมุด เพื่อเป็นโรงเรียนแม่ข่ายให้กับพื้นที่
- สถานศึกษาต้องการการพัฒนาห้องวิทยาศาสตร์

Border Schools4 25 11 2564

          ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้แลกเปลี่ยนกับผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาที่ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงแนวทางการจัดการกับภาวะการระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการจัดการศึกษาให้กับทุกคนโดยไม่เลือกประติบัติ รวมถึงการพัฒนาครู และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนให้พร้อมพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนให้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานโลก และได้ขอบคุณผู้อำนวยการสถานศึกษา และหน่วยงานในพื้นที่ที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

Border Schools3 25 11 2564

          โครงการ SEAMEO Border Schools Quality Inclusive Education Project (BSQIEP) ภายใต้ SEAMEO CARES Project in Thailand ซึ่งเป็นโครงการคุณภาพการศึกษาแบบเรียนรวมของโรงเรียนชายแดน เป็นโครงการมีระยะเวลา 3 ปี ดำเนินงานภายใต้ 1 ใน 7 ประเด็นสำคัญซีมีโอด้านการศึกษา (ประเด็นสำคัญข้อที่ 2 – การจัดการอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา) ซึ่งรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้การรับรอง เมื่อเดือนกันยายน 2557 ณ สปป.ลาว โดยจุดประสงค์ของ BSQIEP เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างศูนย์ฯ/เครือข่ายระดับภูมิภาคขององค์การซีมีโอ หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี โดยจะสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่โรงเรียนชายแดน จัดทำ e-library รวมถึงการจัดการอบรมให้ครูในด้านการสอนทางไกลระหว่างช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และในอนาคต

สรุปและเรียบเรียง : พงศกร รุทระวณิช
กุสุมา นวพันธ์พิมล
กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
กชกร คัตตพันธ์ อาสิฬเฎร์
สำนักงานศึกษาธิการภาค 9
ภาพข่าว : สำนักงานเลขาธิการซีมีโอ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
25 พฤศจิกายน 2564