Loading color scheme

รัฐมนตรีศึกษาฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41

unesco 11 11 2564

          เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมเต็มคณะ ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 24 พฤศจิกายน 2564 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส

unesco1 11 11 2564

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แสดงความยินดีกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก (Madam Audrey Azoulay) ที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกอีกวาระหนึ่ง พร้อมทั้ง กล่าวชื่นชมยูเนสโกที่ปรับวิธีการทำงานได้ดีในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้การดำเนินงานขององค์การยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และกล่าวว่าการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในห้วงเวลาครบรอบทศวรรษเพื่อทบทวนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งยูเนสโกได้นำมาเป็นเป็นพื้นฐานสำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณฉบับใหม่ของยูเนสโก (ปี2565-2566) ประเทศไทยเชื่อมั่นว่าแผนงานที่ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดทำขึ้นมาในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันความร่วมมือภายในองค์กรตลอดจนพันธมิตรอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาระดับโลก

unesco3 11 11 2564

          ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงความพยายามของไทยในการเปิดเรียนตามปกติ ช่วงสถานการณ์โควิด โดยสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียนและครูเป็นหลัก ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนและครูจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ในขณะเดียวกัน ได้คำนึงถึงการให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ครอบคลุมเพื่อลดจำนวนเด็กตกหล่น โดยบุคลากรทางการศึกษาได้ทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงการศึกษาตามสิทธิพื้นฐาน อย่างเท่าเทียม และทั่วถึงของทุกคน

unesco2 11 11 2564
          ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะมีการนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้มากมาย แต่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาก็เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนเช่นกัน ประเทศไทยจึงสนับสนุนยุทธศาสตร์ของยูเนสโก ว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาปี ค.ศ. 2022 - 2025 เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรม เสมอภาค สงบสุข และยั่งยืน นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุน Recommendation on Open Science ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาชนะความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและยังไม่พัฒนา

unesco4 11 11 2564

          นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้ประกาศให้ที่ประชุมทราบว่า ในปี 2565 ประเทศไทย โดยความร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Education Ministers Conference) การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG4 ซึ่งยูเนสโกเป็นองค์การหลักที่มีบทบาทในการดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการย้ำว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งที่จะส่งเสริมการศึกษา ที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการสานต่อที่ประเทศไทยได้ริเริ่มปฏิญญาจอมเทียน

          ประเทศไทยสนับสนุนโครงการริเริ่มต่างๆ ของยูเนสโกที่ส่งเสริมแนวคิดในการเผชิญหน้ากับปัญหาท้าทายของโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการมองอนาคตไปข้างหน้า (Futures Literacy) และข้อเสนอแนะด้านจริยธรรมของ AI (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) เป็นต้น ท้ายสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวขอบคุณสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด พร้อมทั้งยืนยันให้ความร่วมมือเต็มกำลังเพื่อส่งเสริมให้ยูเนสโกบรรลุความสำเร็จตามพันธกิจ

สรุปและเรียบเรียงโดย : รัชนินท์ พงศ์อุดม
สุปราณี คำยวง
กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
11 พฤศจิกายน 2564