Loading color scheme

การหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

unesco 1 3 2 2566

          เมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.00 น. นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือกับต่างประเทศของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมหารือกับ Mr. Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการสำนักงาน UNESCO Bangkok และนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนางสาวสุปราณี คำยวง รักษาการผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

unesco 2 3 2 2566

          ผู้อำนวยการสำนักงาน UNESCO Bangkok และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ได้แก่ Mr. Joe Hironaka หัวหน้าแผนกด้านการสื่อสารและสารสนเทศ (Advisor/Chief of Communication and Information Unit) Mr. Phinith Chanthalangsy หัวหน้าแผนกด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Advisor/Chief of Social and Human Sciences Unit) Ms. Rika Yorozu หัวหน้าสำนักงานบริหารและผู้ประสานงานโครงการระดับภูมิภาค (Head of Executive Office and Regional Programme Coordinator) และ Ms. Sowirin Chuanprapun เจ้าหน้าที่โครงการ (Project Officer) ได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของยูเนสโกในภาพรวมและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาในประเทศไทยและระดับภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้อพยพในพื้นที่ชายแดน กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการส่งเสริมสันติภาพและสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ อาทิ โครงการด้านความปลอดภัยของสื่อการต่อต้านข่าวลวง รายงานความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก โครงการ Together for Peace (T4P) การศึกษาเพื่อสันติภาพ (Peace education) โดยใช้องค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ วัฒนธรรมและศิลปะ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ การใช้ social dialogue เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ การส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือให้กับกลุ่มเด็กอพยพ ซึ่งมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัดตาก และโครงการร่วมกับ กศน. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัดและภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะครู กศน. และสนับสนุนด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี รวมถึงจัดทำสื่อการสอนในภาษาท้องถิ่นนอกจากภาษาไทย เป็นต้น

unesco 3 3 2 2566

          รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวขอบคุณสำนักงาน UNESCO Bangkok ที่ให้ข้อมูลในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งแนะนำการดำเนินงานของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยเฉพาะในส่วนการส่งเสริมด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขเรื่องความไม่เข้าใจและการไม่ยอมรับของคนในพื้นที่บางส่วน อีกทั้งมีความร่วมมือกับท้องถิ่นและต่างประเทศในการจัดตั้งศูนย์ภาษาฯ และการจัดทำหลักสูตรด้านการศึกษาร่วมกับชุมชน โดยเห็นว่าแนวคิดและองค์ความรู้ของยูเนสโกสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคม พหุวัฒนธรรม โดยไม่โยงไปเรื่องการเมืองหรือการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนี้ ในพื้นที่อื่น เช่น จังหวัดตากได้มีการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ แก่ชนกลุ่มน้อยหรือผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาโดยร่วมกับชุมชนและผู้นำท้องถิ่น ทั้งนี้ แนวคิดของยูเนสโกและหน่วยงาน เช่น สถาบันฯ ของยูเนสโกที่อินเดีย (MGIEP) เกาหลีใต้ (APCEIU) หรือญี่ปุ่น (ACCU) น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการนำมาใช้เพื่อจัดการกับแนวคิดอัตลักษณ์วัฒนธรรมในภาคใต้ของไทยที่บางส่วนยังไม่ยอมรับผู้อื่น จึงขอความร่วมมือในการประสานงานเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันต่อไป

unesco 4 3 2 2566

          ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือกับต่างประเทศของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการยินดีร่วมมือกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในการนำแนวคิดและองค์ความรู้ ของยูเนสโกมาปรับใช้ในการทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งองค์ความรู้ของยูเนสโกมีมาอย่างยาวนานหลายสิบปีและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ ของยูเนสโก ที่สามารถนำมาใช้และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานร่วมกัน โดยคำนึงถึงบริบทของพื้นที่เป้าหมายและกลุ่มเป้าหมาย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ด้วย

สรุป/เรียบเรียง : ศิริพร วิริยะอัครเดชา
จิตรลดา จันทร์แหยม
กลุ่มงานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
7 กุมภาพันธ์ 2566