Loading color scheme

ยูเนสโกประกาศให้ “ดอยเชียงดาว” เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก

doi chiang dao 1 10 2564

          เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 คณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Coordinating Council (ICC) of the Man and Biosphere (MAB) Programme: MAB-ICC) ซึ่งเป็นคณะกรรมการภายใต้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) มีหน้าที่ในการกำหนดกรอบและทิศทางการดำเนินงานพื้นที่สงวนชีวมณฑล รวมถึงพิจารณาจัดตั้งและติดตามการดำเนินงานของพื้นที่สงวนชีวมณฑลแต่ละแห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนของยูเนสโก ได้มีมติให้พื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย เป็นสงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ในการประชุม MAB-ICC ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 13 - 17 กันยายน 2564 ในรูปแบบผสม ณ กรุงอาบูจา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย

doi chiang dao1 1 10 2564

          การประชุมข้างต้นมีผู้แทนจากกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและบริหารจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลในประเทศไทย และผู้แทนจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เข้าร่วมประชุมด้วย โดยคณะกรรมการ MAB-ICC ได้พิจารณาพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ทั่วโลก จำนวนทั้งสิ้น 23 แห่ง โดยพื้นที่ดอยเชียงดาวเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของยูเนสโก

doi chiang dao2 1 10 2564

           “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” เป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศบนบก ทะเล หรือชายฝั่งทะเลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ ที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การยูเนสโก (Sustainable Development Goals)

          พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว ตั้งอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว และ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูน มีดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับสามของประเทศไทย มีคุณค่าสำคัญที่ควรค่าต่อการเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของจีน มีภูมิประเทศเขาหินปูนอันโดดเด่น มีภูมิปัญญาเหมืองฝาย มีตัวอย่างกลไกการจ่ายแทนคุณระบบนิเวศในพื้นที่บ้านปางมะโอ พื้นที่แกนกลางที่ได้รับการดูแลโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมาเป็นเวลากว่า 40 ปี นอกจากนี้ดอยเชียงดาวยังมีศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ที่มีการจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เข้มข้น นอกจากนี้ ดอยเชียงดาวเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน มีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักษ์รักษามาอย่างยาวนาน และยังเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่
1. พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา
2. พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสัก-ห้วยทาก จังหวัดลำปาง
3. พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่
4. พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง และ
5. พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

สรุปและเรียบเรียง : พัทธดนย์ หลงปาน
สุปราณี คำยวง
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
รายงานโดย : กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อมูล ณ วันที่ : 1 ตุลาคม 2564