Loading color scheme

การประชุมนานาชาติด้านการศึกษาของ UNESCO-APEID ครั้งที่ 13 และการสัมมนาระดับสูงของ World Bank - KERIS

13thunesco-apeid
นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ฝ่ายการต่างประเทศ) พร้อมด้วยนายเกียรติศักดิ์ เสนไสย ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระบบสารสนเทศ สป. และเจ้าหน้าที่สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติด้านการศึกษาของ UNESCO-APEID ครั้งที่ 13 และการสัมมนาระดับสูงของ World Bank-KERIS ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา ในหัวข้อ “เทคโนโลยีสารสนเทศแปลงโฉมการศึกษา” ระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงแรม Zhejiang International เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการศึกษา จากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ธนาคารโลก สถาบันบริการสารสนเทศและการวิจัยทางการศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KERIS) และมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องรวมประมาณ 250 คน
รูปแบบของการประชุมประกอบด้วย การประชุมเต็มคณะ 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการติดตามวางแผนและจัดทำนโยบายการศึกษา 2) บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการเรียนการสอน 3) บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับอุดมศึกษา และการเรียนรู้ในระบบเปิดโดยใช้ระบบการสอนทางไกล และ 4) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการประชุมกลุ่มย่อย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้หยิบยกหลายประเด็นคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้ ICT แปลงโฉมการศึกษา ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของ ICT กับการศึกษามากขึ้นอันจะส่งผลดีต่อการจัดทำนโยบายให้มีคุณภาพและเข้าถึงการศึกษาได้อย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นเรื่องของผลกระทบ ICT ต่อผลที่พึงได้มาจากการเรียนรู้ การปูพื้นฐานด้าน ICT เพื่อพัฒนาความสามารถของเด็กในการเรียนรู้วิธีการใช้ ICT การติดตามประเมินผลการใช้ ICT กับการศึกษา การพิจารณาผู้ที่พึงได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงจากการใช้ ICT ทั้งในระดับโรงเรียน สถาบันการศึกษาครู สถาบันอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การใช้ ICT ในการเรียนการสอน การวิจัย และการขยายผลการดำเนินโครงการ/กิจกรรม การเรียนรู้ทางไกลและการเรียนรู้ระบบเปิด การศึกษานอกระบบ การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้ ICT ในการเรียนการสอน และวิธีการฝึกอบรมครูรุ่นใหม่เพื่อให้สามารถใช้ ICT สอนในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงบทบาท การฝึกปฏิบัติ และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและเด็กในหลากหลายระดับมากกว่าการบูรณาการ ICT ในการเรียนการสอนผ่านหลักสูตรของโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งในอนาคต  การพัฒนา ICT กับการศึกษาควรรวมเรื่องของการประมวลความรู้มนุษย์ การสร้างเครือข่ายทางสังคม การใช้เทคโนโลยีระบบสัมผัส และการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีในรูปแบบของมือถือและคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ การสร้างศักยภาพให้แก่บุคลากรในสถาบันการศึกษาทั้งหมด เช่น โรงเรียน สถาบันการศึกษาครู หรือสถาบันอุดมศึกษา เป็นสิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญมากกว่าการพัฒนาเฉพาะรายบุคคล/กลุ่ม ทั้งนี้ บทบาทของ ICT ในระดับอุดมศึกษาได้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ ICT ในการเรียนการสอน การบริหาร การวิจัย การขยายผลการดำเนินโครงการ/กิจกรรม การประสานความร่วมมือและการบริหารสถาบันในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐเกาหลีและปากีสถานได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาทักษะการเรียนรู้หนังสือผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
การประชุมครั้งนี้ได้มีผู้นำเสนอผลงานจากหลายประเทศ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไทย กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น โดยแบ่งปันความรู้ในเรื่องของแผนแม่บทและนโยบายด้าน ICT กับการศึกษาของประเทศ ตัวอย่างเช่น มาเลเซียจัดทำแผนแม่บท ICT ทั่วประเทศภายใต้  Multimedia Super Corridor ซึ่งรวมถึงแนวคิดสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น e-Government, Smart Card, Smart School, และ Telehealth ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการใช้ ICT กับการศึกษาด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอในเรื่องของ Intel Teach Programme, Microsoft Peer Coaching Techniques, CISCO Networking Academy, และการใช้ Interactive White Board ซึ่งจัดทำขึ้นโดย Smart Technology และ Promethean การใช้มัลติมีเดียในการเรียนการสอน การใช้ Glogster เป็นเครื่องมือส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูง การใช้แผนที่ดิจิตัลเป็นเครื่องมือระดมความคิด การใช้ Blog และ Wiki เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันทางการศึกษา และการใช้ e-portforlios เพื่อสร้างแรงจูงใจ
นอกจากนี้ นางศรีวิการ์ฯ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการประจำของ APEID ครั้งที่ 4 (The 4th APEID Standing Committee Meeting) ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างการประชุมนานาชาติด้านการศึกษาของ UNESCO-APEID ครั้งที่ 13 ด้วย โดยสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้รายงานต่อที่ประชุมเกี่ยวกับผลการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ปี 2551–2552 ที่เกี่ยวกับด้านการอุดมศึกษาด้านการศึกษาครู ด้านการศึกษาและฝึกอบรมทางเทคนิคและอาชีวะ (TVET) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการศึกษา ด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการจัดประชุมนานาชาติของ UNESCO-APEID นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาหารือเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาในระดับภูมิภาค
นางศรีวิการ์ฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ยุทธศาสตร์ของสำนักงานยูเนสโกฯ เหมือนกับการปฏิรูปสำนักงานอย่างหนึ่งซึ่งเหมือนกับประเทศไทยที่ในขณะนี้ได้มีการดำเนินการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติของไทย กับสำนักงานยูเนสโกฯ ในหลายโครงการ/กิจกรรม อาทิ โครงการพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส/ห่างไกลการศึกษา (Reach to the Unreached) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา ซึ่งต้องจัดให้มีการประชุมแก่อาจารย์/นักวิชาการศึกษาในมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา เพื่อเป็นเวทีหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ จัดทำการวิจัย รวมทั้งให้เกิดการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายระหว่างกัน โดยจะมีลักษณะเหมือนกับการดำเนินงานของ UNESCO Chair ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับยูเนสโก นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานยูเนสโกฯ อีกด้วย
สำหรับในปี พ.ศ. 2553 สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการของไทยร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมนานาชาติด้านการศึกษาของ UNESCO-APEID ครั้งที่ 14 ในเดือนธันวาคม 2553 ที่ประเทศไทย ในหัวข้อ “การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”
(Education for Human Resource Development)

 

ข้อเสนอแนะ

1. การสร้างเครือข่ายและการดำเนินการตามแผนแม่บท ICT ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการอยู่ โดยให้มีความสอดคล้องและทำงานเชื่อมโยงกับยูเนสโก 
2. การส่งเสริมการใช้ ICT เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในทุกระดับโดยมีกระบวนการอย่างชัดเจน 
3. การสร้างเสริมศักยภาพของครูและผู้บริหารในการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดเกี่ยวกับวิธีการสอนโดยใช้ ICT เข้ามาพัฒนาการเรียนการสอน             
4. การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการฝึกหัดครู (ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์) เพื่อให้สอดคล้องและเชื่อมโยงต่อนโยบายและแผนแม่บท ICT
5. การดำเนินการจัดทำการศึกษาวิจัยและประเมินผลการใช้ ICT ในทุกโรงเรียนและทุกระดับ 
6. การส่งเสริมและเชื่อมโยงการจัดระบบการใช้สื่อและมัลติมิเดีย (วิทยุ โทรทัศน์ มือถือ ดิจิตัล) และศูนย์บริการสื่อ (Teacher Resource) ในทุกรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงการศึกษานอกระบบ/การศึกษาทางไกล รวมทั้งการทำงานเชื่อมโยงกับยูเนสโกในการถ่ายทอดความรู้ไปยัง 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าของ ICT และการนำไปใช้ปฏิบัติในองค์กรเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ