Loading color scheme

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแสวงหาแนวทางในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้โครงการการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการ สร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น

เด็กตกหล่น 30 6 2566

          เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแสวงหาแนวทางในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้โครงการการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่นซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 29 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการจัดการเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องและเอกชน รวมทั้งสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ องค์การยูนิเซฟ องค์การซีมีโอและอาเซียน โดยมีเข้าร่วมการประชุมกว่า 1,200 คน จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย

เด็กตกหล่น1 30 6 2566

เด็กตกหล่น2 30 6 2566

          ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงโลกปัจจุบันที่มีความผันผวน และความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ Digital Disruption และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคการศึกษา สิ่งที่หลายคนไม่คุ้นเคยกับการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ หลายภาคส่วนก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เกิดความคุ้นเคยต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเรียนรู้รวดเร็วยิ่งขึ้น การแสวงหาความรู้ง่ายขึ้น แต่ข้อเสียก็คือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันลดลง สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ คิดว่าที่ประชุมจะมีการหยิบยกประเด็นในเรื่องการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ปัญหาที่เกิดภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในด้านการเรียนรู้ที่ถดถอย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก การร่วมกันคิดว่าทำอย่างไรจะเติมเต็มความรู้ให้แก่นักเรียน และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ การขาดโอกาสทางการเรียนรู้ของเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งก็สอดคล้องกับปฏิญญาของอาเซียนฯ ที่เห็นพ้องกันในการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่เด็ก โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส ในการวิจัยเราพบความมีกว่า 100,000 คน ที่พวกเขาขาดโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา อันนี้ไม่ใช่กลุ่มเด็กออกกลางคัน แต่เป็นกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากความยากจน ผู้ปกครองและสังคมไม่เห็นความสำคัญ ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพยายามที่จะพาเด็กกลุ่มนี้กลับเข้ามาเรียน ผ่านโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพาน้องกลับมาเรียน หรือโครงการอาสาสมัครต่าง ๆ แต่ก็ยังพบว่ามีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งก็ยังไม่ได้กลับมาเรียนเพราะจะกลับไปทำมาหากิน และย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครองไป เพราะจะคำนึงเรื่องความเป็นอยู่เป็นสำคัญ โครงการอาสาสมัคร อสศธ. เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยจะดึงดูดและสอนให้เด็ก ๆ เหล่านี้สามารถอ่านออกเขียนได้ อย่างน้อยให้มีวิชาชีพ ไม่ถูกหลอก และผลักดันกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขยายโอกาสหรือ โรงเรียน กศน.ในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มทักษะให้กับนักเรียนเพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นต่อศตวรรษที่ 21 และเพิ่มความแข็งแรงให้กับผู้เรียน สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าหากต้องการรักษาการเติบโตเศรษฐกิจเทียบเท่าปัจจุบัน แรงงานต้องเก่งขึ้น 2 - 2.5 เท่า ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคนและแรงงานให้โดดเด่น มีทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานในปัจจุบันและอนาคต พัฒนาทักษะให้มากขึ้นเป็นลักษณะที่เรียกว่า multi-skill คือสามารถทำงานได้หลาย ๆ อย่าง นอกจากต้องมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 แล้วยังต้องมีทักษะในการทำงานมากขึ้นถึง 2 เท่า แต่ถ้าหากต้องการต้องการก้าวพ้นความยากจนกำลังคนในประเทศจำเป็นต้องมีทักษะมากกว่า 2.5 เท่า ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญของนักจัดการศึกษาที่ต้องร่วมกันวางแผน สถานประกอบการหลายแห่งก็หันมารับกำลังคนที่มีทักษะรอบด้านมากขึ้น เช่นในจังหวัดภูเก็ต การรับคนที่มีลักษณะหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านเริ่มไม่มีแล้ว นอกจากนี้แรงงานยังต้องมีความขยันมากขึ้น ในประเทศเวียดนามได้เคยเปรียบเทียบว่ากำลังคนของเขามีทักษะมากกว่าของไทย 3 เท่า เพราะเขาต้องการก้าวพ้นความยากจน สำหรับในประเทศไทยต้องการทักษะที่มากขึ้น 2 – 2.5 เท่า เพื่อให้ก้าวพ้นความยากจน นอกจากทักษะแล้วยังจำเป็นต้องเพิ่มทักษะให้ผู้เรียนในทุกช่วงชั้น ต้องสร้างทั้งความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับผู้เรียนทั้งด้านกายภาพและทางจิตใจ เด็กในวันนี้มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เดินทางออกจากบ้าน แม้กระทั่งอยู่ในชั้นเรียน เมื่อก่อนในโรงเรียนเราอาจจะมีเพียงแค่คุณครูในแต่ละรายวิชา คุณครูแนะแนว ปัจจุบันยังต้องมีนักจิตวิทยาที่ต้องเข้ามาช่วยในโรงเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อมาแก้ไขและเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปในยุคปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักจัดการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันคิดและวางแผนร่วมกันในการประชุมครั้งนี้ด้วยเพื่อสร้างมิติใหม่ในการศึกษา ร่วมกันสร้างให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น

เด็กตกหล่น4 30 6 2566

          การจัดการประชุมครั้งนี้หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เช่น ผู้แทนจากองค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ องค์การซีมีโอและอาเซียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน ผู้แทนจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดนครพนม บึงกาฬ ตาก ตรัง สงขลา กาญจนบุรี ปัตตานี อุบลราชธานี ราชบุรี สระแก้ว เชียงใหม่ และน่าน ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงโรงเรียนและสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้ร่วมกันแบ่งปันแนวทางในการดำเนินงาน แนวปฏิบัติที่ดีในพื้นที่นำร่อง รวมทั้งได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น หรือไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาของแต่ละพื้นที่เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้และการมีงานทำให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น เพื่อแสวงหาแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

เด็กตกหล่น3 30 6 2566


สรุปและเรียบเรียง : รุ่งกานต์ พันธุ์ภักดี
กุสุมา นวพันธ์พิมล
ข้อมูล : กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาค
 รายงานโดย : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
30 มิถุนายน 2566